ดีจีเอ-สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี AI หวังประยุกต์ใช้กับระบบการบริหารและบริการภาครัฐ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ประเทศแถวหน้าในการเป็นผู้นำเทคโนโลยี
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธาน เปิดศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ ภาครัฐ โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) หรือ ดีจีเอ (DGA) ว่า ประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วและสามารถประยุกต์ใช้ในบริบทที่หลากหลายย่อมสร้างความได้เปรียบในหลากหลายมิติ เช่น การประยุกต์ใช้ AI ในการทำงานของรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวก ประชาชน ประหยัดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มศักยภาพด้านผลผลิต (productivity) ให้กับประชาชนตลอดจนยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ ส่งผลให้ Government Artificial Intelligence Readiness Index 2019 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 56 จาก 196 ประเทศโดย เทียบจากดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาลใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ การกำกับดูแล, โครงสร้างพื้นฐานและข้อมูล, ทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ และการศึกษา
ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ถือเป็นเทคโนโลยีที่ประเทศไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเข้ามารองรับความต้องการ ทั้งในภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา เนื่องจากการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขานี้จะใช้เวลานาน ส่งผลให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องลงทุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในมูลค่าที่สูง จึงเกิดแนวความคิดที่จะรวบรวมผลงานปัญญาประดิษฐ์พร้อมใช้ และ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ มีความตั้งใจพัฒนาเพื่อประเทศไทย มาพบปะหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีนี้ร่วมกัน รวมถึงการสร้าง ชุมชนปัญญาประดิษฐ์ (AI Community) ผ่านศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือ จากทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการศึกษา เพื่อให้ AI สร้างผลงานและแจ้งเกิดอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการดีจีเอ กล่าวว่าศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐของดีจีเอ จะมีบทบาทและหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐสามารถให้บริการสาธารณะในช่องทางดิจิทัลได้ โดยมีการบริหารจัดการและการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้อย่างมั่นคงปลอดภัยและมีธรรมาภิบาล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้ง่ายขึ้น
อีกทั้งยังสนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อสาธารณะและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และ ดีจีเอ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันที่สำคัญเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบนิเวศของนวัตกรรมด้าน GovTech อย่างเป็นระบบ สามารถพัฒนาและส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐเข้าใจในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ AI มาประยุกต์ใช้งานกับงานภาครัฐ เพื่อให้บริการกับหน่วยงานราชการและประชาชน
โดย AI สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับทางด้านหลากหลายด้านทั้งวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ภาครัฐ เช่น ข้อมูลทางการเงิน การคลัง ข้อมูลการใช้จ่ายเงินงบประมาณและข้อมูลของการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการประเมินเครดิต (Credit Scoring) ด้วยความสามารถในการประมวลผลด้วยเทคโนโลยีอันชาญฉลาดจะช่วยทำให้การวิเคราะห์และประเมินผล ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้งานด้านการตรวจสอบสามารถดำเนินการได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการป้องกันการทุจริต ส่งเสริมความโปร่งใส ดังนั้นการมีศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ จะช่วยให้พันธกิจในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่องานภาครัฐมีประสิทธิภาพและทิศทางพัฒนาสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ยกระดับการบริหารจัดการระบบงานและบริการภาครัฐ อันจะนำไปสู่ประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป