ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) คืนก่อนวาเลนไทน์เหนือฟ้าดอยอินทนนท์เชียงใหม่

News Update

สดร.เผยภาพดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) (ซีสองศูนย์สองสอง อีสาม แซดทีเอฟ) เคียงข้างกระจุกดาวเปิด NGC 1647 คืน 13 กุมภาพันธ์ 2566

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) (ซีสองศูนย์สองสอง อีสาม แซดทีเอฟ) เคียงข้างกระจุกดาวเปิด NGC 1647 คืน 13 กุมภาพันธ์ 2566 บันทึกภาพเมื่อเวลาประมาณ 20:30-21:00 น. ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่ ส่วนหัวของดาวหางในชั้นโคมาปรากฏแสงสีเขียวเป็นเอกลักษณ์และส่วนหางยังคงปรากฏชัดทั้งหางฝุ่นและหางไอออน ทอดยาวออกไปทางซ้ายของภาพ

ปัจจุบันดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) กำลังเคลื่อนที่ออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ หลังจากนี้จะสังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก ผู้สนใจติดตามชมควรอยู่ในบริเวณพื้นที่มืดสนิทไร้แสงรบกวน ใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาช่วยสังเกตการณ์ ดาวหางจะมีลักษณะปรากฏเป็นฝ้าจาง ๆ หรือ “ดาว” ดวงหนึ่งที่ไม่ได้คมชัดเช่นดาวดวงอื่น  เมื่อบันทึกภาพดาวหางดวงนี้ผ่านกล้องถ่ายภาพโดยใช้เทคนิคการเปิดหน้ากล้องรับแสงเป็นเวลานานจะสามารถสังเกตเห็นหางและสีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ของดาวหางดวงนี้ได้  สำหรับตำแหน่งของดาวหางที่ปรากฏบนท้องฟ้าขณะนี้จะค่อย ๆ ขยับจากกลุ่มดาววัว (Taurus) เข้าสู่กลุ่มดาวแม่น้ำ(Eridanus)  ปรากฏบนซีกฟ้าตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และคาดว่าจะยังสังเกตการณ์ได้จนถึงประมาณกลางเดือนมีนาคม 2566

ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งในรอบใช้เวลาประมาณ 50,000 ปี ค้นพบเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565 โดยเครือข่ายกล้องตรวจท้องฟ้ามุมกว้าง Zwicky Transient Facility ในช่วงแรกวัตถุนี้มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ 17.3 ก่อนจะสว่างขึ้นจนนักดาราศาสตร์ทราบว่าเป็นดาวหาง

รายละเอียดการถ่ายภาพ

วัน/เดือน/ปี ที่ถ่ายภาพ : 13 กุมภาพันธ์ 2566

เวลาที่ถ่ายภาพ : ประมาณ 20:30-21:00 น.

สถานที่ถ่ายภาพ : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

จ.เชียงใหม่

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : Nikon 810a + กล้องโทรทรรศน์ Takahashi Epsilon-180ED

ขนาดหน้ากล้อง :180 mm

ความยาวโฟกัส : 500 mm

เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 15 ภาพ x 120 วินาที (เวลารวม 30 นาที)