วช.มอบรางวัลติดดาวนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาภาคกลางและตะวันออก ปี66

News Update

วช. ปลื้มผลงานนวัตกรรมเยาวชน มอบรางวัลติดดาว 17 ผลงานเด่นนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา สร้างแรงจูงใจในกิจกรรมบ่มเพาะ ภาคกลางและตะวันออก ปี 66 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดพิธีปิดกิจกรรม “การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566 ภาคกลางและภาคตะวันออก”  และพิธีมอบเกียรติบัตรผลงานติดดาวผลงานเด่นอาชีวศึกษา จำนวน 17 ผลงาน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีปิดกิจกรรมฯ และมอบรางวัลฯ ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรมการ บ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสถาบันการอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่บุคลากรของสายอาชีวศึกษาทั้งคณาจารย์และนักศึกษา ที่ร่วมกันเรียนรู้จากการบ่มเพาะจากผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านในที่นี้ตลอด 3 วันที่ผ่านมา  ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทักษะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมให้สามารถร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนางานประดิษฐ์คิดค้น และสร้างแรงบันดาลใจที่จะนำพลังของอาชีวศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพของงานสิ่งประดิษฐ์ที่รองรับความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศในอนาคตได้อย่างเต็มภาคภูมิ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

สำหรับรางวัลติดดาวของทีมอาชีวศึกษาที่มีผลงานและการนำเสนอได้อย่างโดดเด่น เป็นต้นแบบการพัฒนาและการต่อยอดเป็นประดิษฐกรรมและนวัตกรรม สำหรับการส่งเสริมให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานตามทิศทางวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 17 ผลงาน ใน 5 กลุ่มเรื่อง  

โดยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ได้แก่ ผลงานเรื่อง “เครื่องผลิตเนื้อลูกสำรองพร้อมทาน” โดย วิทยาลัยเทคนิคตราด   ผลงานเรื่อง “Thai – Aus Green House” โดย วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ผลงานเรื่อง “เครื่องปรับสภาพน้ำบ่อปิดอัตโนมัติเลี้ยงปลา” โดย โดย วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี  และผลงานเรื่อง “เครื่องขัดขนาดผลไม้” โดย วิทยาลัยการอาชีพบ้านแพ้ว

ด้านการสาธารณสุข สุขภาพและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ  ได้แก่ ผลงานเรื่อง “ลิปมันจากแก่นฝาง” โดย วิทยาลัยการอาชีพพนมทวน   ผลงานเรื่อง “บุกข้าวแกงคั่วสับปะรด” โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี ผลงานเรื่อง “ธัญพืชอัดแท่งให้พลังงานจากข้าวสังข์หยด” โดย วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน

ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ  ได้แก่ ผลงานเรื่อง “SWU Account Suite” โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวรการ  ผลงานเรื่อง “แอปพลิเคชันเกมรูปแบบเทคโนโลยีเสมือนจริงแบบติดตั้งร่วมกับอุปกรณ์พกพาเพื่อพัฒนาสมรรถนะการตอบสนองและการเคลื่อนไหวสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้พิทักษ์แห่งวัชรพรี” โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี  และผลงานเรื่อง “ระบบตรวจสอบการสวมหมวกนิรภัยด้วยระบบการเรียนรู้เชิงลึก” โดย วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ

ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม   ได้แก่ ผลงานเรื่อง “ฟิลเตอร์คอลย์ร้อนแอร์ประหยัดพลังงาน” โดย วิทยาลัยการอาชีพบ้านแพ้ว   ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์เป่าลมเย็นจากท่อ PVC`” โดย วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี  และผลงานเรื่อง “กล่องสะสมพลังงานสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน” โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก

และด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์   ได้แก่  ผลงานเรื่อง “ผลิตภัณฑ์คุกกี้รสผัดฉ่ากุ้ง” โดย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา ผลงานเรื่อง “ยอหยา สควีซ (สังขยาใบยอ)” โดย วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี  ผลงานเรื่อง “ขนมหม้อแก้งถั่วขาวไข่เค็ม” โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรีและผลงานเรื่อง “แผ่นประคบสมุนไพรพร้อมใช้” โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี

พร้อมกันนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิของ วช. ที่ร่วมเป็นวิทยากรในการบ่มเพาะบุคลากรสายอาชีวศึกษา ได้ร่วมมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะทุกสถาบันการศึกษา ที่ร่วมเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสมรรถนะในครั้งนี้ด้วย

สำหรับกิจกรรม “การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566” วช. ได้ร่วมกับ สอศ. จัดขึ้นเพื่อร่วมกันวางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรขอสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ ซึ่งจัดกิจกรรมในรูปแบบการบ่มเพาะให้ความรู้และเทคนิคแนวการคิดในระยะเวลา 3 วัน โดยนักเรียน นักศึกษา จากสถาบันอาชีวศึกษาที่เข้ารับการอบรม จะนำเอกสารเชิงแนวคิด หรือ Concept Paper มาให้ผู้ทรงคุณวุฒิและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำ เพื่อนำไปปรับปรุงและเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้  กิจกรรม “การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation” ในครั้งต่อไปจะไปจัดขึ้นที่ภาคใต้ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นลำดับต่อไป