วช.โชว์โมเดล “ สวนป้องกันฝุ่น PM 2.5 ” ผลงานวิจัยช่วยลดฝุ่นแบบยั่งยืนด้วยระบบนิเวศป่าในเมือง
เมื่อวันที่27ก.พ.2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงข่าว “โมเดลสวนลดฝุ่น PM 2.5 และ เฝ้าระวัง PM 2.5” เพื่อช่วยลดผลกระทบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่สูงเกินมาตรฐาน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการแถลงข่าว และคณะผู้บริหาร วช. ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วย ดร.ภูชีวันท์ สุริยะวงศ์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรองศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมแถลงข่าว ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมนำชมสวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” ต้นแบบสวนป้องกันฝุ่น PM 2.5 แห่งแรก ที่ตั้งอยู่บริเวณส่วนหน้าของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บางเขน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จสู่การใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทุกปี วช. เล็งเห็นถึงปัญหาที่ประชาชนได้รับ จึงสนับสนุนทุนวิจัยในแผนงานโครงการวิจัยเพื่อทำงานในเชิงพัฒนาชุดข้อมูลองค์ความรู้จากงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นระบบสารสนเทศ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5
ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วช.ได้นำเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับข้อมูลมาใช้ในการเฝ้าระวัง เพื่อให้เป็นข้อมูลสาธารณะกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ หรือศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ ที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดตามเฝ้าระวังและเตือนภัยด้วยข้อมูลฝุ่น PM2.5 ที่ถูกต้อง
และนอกเหนือจากระบบเฝ้าระวังแล้ว ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าสนใจ ก็คือ “การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบนิเวศป่าในเมือง” ผลงานทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีการทำงานศึกษาวิจัยและทำให้ทราบถึงชนิดพืชที่มีศักยภาพในการลดฝุ่น PM2.5 และกลไกการบำบัดฝุ่นด้วยพืช จนเกิดเป็นโมเดลต้นแบบ “สวนป้องกันฝุ่น PM 2.5”
ดร.ภูชีวันท์ สุริยะวงศ์ จากศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CCDC) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แพลตฟอร์ม “ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (Air Quality Information Center: AQIC)” เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อแจ้งเตือนและเฝ้าระวังผลกระทบจาก PM 2.5 ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในทุกช่วงวัย ทั้งนี้ วช.และศูนย์ CCDC ได้พัฒนาเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซ็นเซอร์หรือ DustBoy ขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันได้ขยายผลมีการติดตั้งทั่วประเทศแล้วประมาณ 700 ชุด ขณะนี้ยังมีการออนไลน์อยู่ และมีการเก็บข้อมูล และทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง โดย วช. มอบหมายให้ศูนย์ CCDC เป็นตัวแทนในการรวบรวมข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซ็นเซอร์จากหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งประชาชน สามารถเข้าดูรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับ PM2.5 ของระบบของศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ ได้ที่ https://pm2_5.nrct.go.th/ หรือผ่านแอพพลิเคชัน AQIC
ส่วน“การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบนิเวศป่าในเมือง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ จากคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช.เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นการศึกษากลไกต่าง ๆ ของพันธุ์ไม้นานาชนิดที่สามารถช่วยบำบัดฝุ่นได้ มีการจัดลำดับพันธุ์พืชที่เหมาะสม และนำมาสู่การจัดรูปแบบเป็นสวนต้นแบบที่มีการใช้ไม้ยืนต้นเพื่อลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน โดยเลียนแบบระบบนิเวศ ที่ต้นไม้ต้องมีความหลากหลาย เพราะแต่ละต้นมีศักยภาพที่แตกต่างกันไป
ทีมวิจัยใช้ไม้ที่มีความสูง 3 ระดับคือไม้ใหญ่ ไม้ขนาดกลาง และไม้คลุมดิน เพื่อกำบังฝุ่นในทุกระยะที่ลมพัดเข้ามา เบื้องต้นมีการวิเคราะห์พื้นที่ ดูทิศทางลมและแดด ซึ่งพบว่าสวนเดิมของ วช. จะมีลมที่พัดเข้ามาจากถนนใหญ่ในช่วงที่มีการจราจรคับคั่ง จึงมีการออกแบบการใช้พันธุ์ไม้ต่าง ๆ เข้ามาช่วยเป็นกำแพงลม และเปลี่ยนทิศทางลมไปสู่พื้นที่บำบัดด้วยต้นไม้ในโซนต่าง ๆ รวมถึงมีการนำระบบพ่นหมอกแบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในช่วงที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานมากๆ
สำหรับเรื่องการเลือกใช้พันธุ์ไม้ในสวนต้นแบบ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร จากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ไม้ขนาดใหญ่ในสวนแห่งนี้ จะเป็นต้นไม้เดิมซึ่งปกคลุมชั้นเรือนยอด เช่น ราชพฤกษ์ ประดู่บ้าน และพิกุล ส่วนไม้ที่นำมาปลูกเพิ่มจะเป็นไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก ซึ่งโดยทั่วไปฝุ่น PM2.5 จะถูกพัดพาไปตามกระแสอากาศ ดังนั้นสวนแห่งนี้จึงมีการออกแบบให้กระแสอากาศที่มาจากถนนไหลไปตามแนวพื้นที่ว่างเกิดจากการปลูกต้นไม้ที่มีใบขนาดเล็กทรงโปร่งเป็นแนวดักลมเมื่ออากาศเคลื่อนที่ช้าลงทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกดักจับด้วยใบพืชที่มีประสิทธิภาพในการลด PM2.5 ส่วนความชื้นจากการคายน้ำของพืชบริเวณนั้น จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับฝุ่นละลองขนาดเล็กให้เคลื่อนที่ลดลง เพิ่มเวลาให้พืชช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้
นอกจากนี้ภายในสวนยังมี โซนจัดวางต้นไม้กันฝุ่น ได้แก่ โซนลิ้นมังกรสู้กลิ่น พันธุ์ไม้อวบน้ำและพืชในกลุ่ม เช่น ต้นลิ้นมังกร ต้นสับปะรดสี ช่วยลดสารระเหย กลิ่นเหม็นและฝุ่นได้ดี และยังช่วยฟอกอากาศในเวลากลางคืน ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าต้นลิ้นมังกร สามารถลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 40 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450 – 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โซนพันธุ์ไม้ที่ใบมีขน ช่วยในการจับตรึงฝุ่นละอองในอากาศ เช่น ต้นพรมกำมะหยี่ และต้นพรมญี่ปุ่น โดยต้นพรมกำมะหยี่ สามารถลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 60 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450 – 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และโซนพันธุ์พืชลดมลพิษ เช่น ต้นหมาก เดหลี พลูปีกนก คล้า และกวักมรกต
จุดสำคัญของโมเดลสวนป้องกันฝุ่น PM 2.5 คือ การคัดเลือกสายพันธุ์พืชให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ มีการออกแบบจัดวางซึ่งเป็นการใช้ต้นไม้น้อยแต่มีประสิทธิภาพที่ดี ซึ่งต้นไม้เหล่านี้สามารถหาได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป ปัจจุบันองค์ความรู้จากงานวิจัยสามารถสร้างเป็นสวนต้นแบบได้อย่างชัดเจน เหลือเพียงการติดตั้งเซ็นเซอร์ เพื่อใช้ในการตรวจวัดและพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบำบัดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งในอนาคตมีการนำข้อมูลไปขยายผลและส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลักดันให้องค์ความรู้เหล่านี้ถูกนำไปใช้จริง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน