อนุภาคนาโนนำส่งสารกลุ่มกัญชา-กัญชง ติดปีกอุตสาหกรรมเวชสำอาง

เวทีวิจัย

              นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนากระบวนการสังเคราะห์อนุภาคนาโน ช่วยนำส่ง CBD หรือสารสกัดจากพืชกลุ่มกัญชา-กัญชง ลดข้อจำกัด เพิ่มความสามารถในการละลายน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพทางเภสัชวิทยา สามารถนำไปต่อยอดใช้งานในเชิงอุตสาหกรรม รับเทรนด์ตลาดกัญชา-กัญชงโลก และตลาดกัญชงไทยที่จะโตถึง 126 % ในปี 2568

          
              ดร.คทาวุธ นามดี จากทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สารสกัด Cannabidiol (CBD) หรือสารสกัดจากพืชตระกูลกัญชง-กัญชา กำลังได้รับความสนใจทั้งนำไปใช้ทางการแพทย์และการวิจัยทางคลินิค เนื่องจากมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาทางการบำบัด รวมทั้งการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ โดยสารสกัด CBD ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดและมีความเป็นพิษต่อระบบประสาทต่ำ

             ทั้งนี้แม้สารสกัดจากกัญชา-กัญชงจะมีฤทธิ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่การนำสารสกัด CBD ไปใช้ในทางการแพทย์นั้นยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน เช่น การละลาย ซึ่งพบว่า CBD มีชีวประสิทธิผลต่ำเนื่องจากความสามารถในการละลายน้ำได้น้อยและส่งผลให้การดูดซึมสารสกัดไม่สมบูรณ์ อีกทั้งปัจจัยด้านความคงสภาพของสารสกัด CBD เสื่อมสภาพได้จากอุณหภูมิ แสง ค่าความเป็นกรด-ด่าง และปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ รวมถึงข้อจำกัดด้านการนำส่งสารสกัดผ่านผิวหนัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถส่งผ่านสารสกัดได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการส่งสารผ่านผิวหนังนั้นยังไม่สูงเท่าที่ควร เนื่องจากสารสกัดประกอบด้วยโมเลกุลที่ละลายได้ดีในน้ำมัน ซึ่งจะสะสมอยู่ที่หนังกำพร้าชั้นนอก และไม่สามารถซึมผ่านลงไปได้ทั้งหมด


             “จากข้อจำกัดดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาอนุภาคนาโนเพื่อการนำส่งสารสกัดจากพืชตระกูลกัญชง-กัญชา ซึ่งช่วยให้สารสกัดมีความสามารถในการกระจายตัวในน้ำ ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะในกลุ่มเวชสำอาง หรือผลิตภัณฑ์สำหรับสปา/เวลเนส ที่เดิมมักเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมัน หรือครีมเนื้อหนัก อนุภาคนาโน ดังกล่าวยังลดความเป็นพิษจากสารสกัดโดยตรงและเพิ่มประสิทธิภาพทางเภสัชวิทยา ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาด้านต่างๆ ต่อไป”


             ดร.คทาวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยเริ่มคุ้นชินกับสารสกัด CBD หรือกัญชา กัญชง ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ตามที่ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1) ตั้งแต่ตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ปัจจุบันตลาดกัญชาถูกกฎหมายของไทยยังมีมูลค่าน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมอยู่ในตำรับยาไทย และแม้ว่าจะมีการปลดล็อคให้มีการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองทางการแพทย์เพื่อใช้กับผู้ป่วย และยังต้องได้รับการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
             ส่วนภาพรวมของโลกนั้น จากรายงาน The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำระดับโลก คาดว่า มูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 103.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567 แบ่งเป็น ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วนราวร้อยละ 60 ของมูลค่าตลาดกัญชาทั้งหมด และอีกร้อยละ 40 เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน เริ่มมีบริษัทยักษ์ใหญ่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของโลก สนใจที่จะใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าว ส่งผลให้คาดว่า ในระยะข้างหน้า มูลค่าตลาดกัญชาโลกจะเติบโตและกระจายไปในหลายธุรกิจมากขึ้น
             ในขณะเดียวกัน ความต้องการสารสกัด CBD และน้ำมันเมล็ดกัญชง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม อาหารสัตว์ รวมถึงเส้นใย สำหรับเป็นวัตถุดิบในสินค้านวัตกรรม เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น มีแนวโน้มเติบโตทั้งในประเทศและตลาดโลก จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการลงทุนเพาะปลูกกัญชงเพิ่มมากขึ้น มีการประเมินว่า ตลาดกัญชงโลกในปี 2563 มีมูลค่าราว 4,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเร่งตัวขึ้นไปแตะ 18,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 22.4 ต่อปี
             นอกจากนี้งานวิจัยกรุงศรี ฯ ยังชี้ว่า มูลค่าอุตสาหกรรมกัญชง ของไทย ปี 2564 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีกัญชงผสมจะมีมูลค่า 280 ล้านบาท รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง 240 ล้านบาท ยาและอาหารเสริมจากกัญชง 50 ล้านบาท เครื่องแต่งกายที่ทำด้วยใยกัญชง 30 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลประเมินว่า ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหลักในปีแรก ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ดังกล่าวจะมีการนำกัญชงไปใช้มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท และคาดว่าผลิตภัณฑ์กัญชงไทยจะเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐปลดล็อคการประกอบธุรกิจ โดยตลาดกัญชงไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 126% ต่อปี
             “อนุภาคนาโนนำส่งสารสกัด CBD ที่ทีมวิจัยนาโนเทคพัฒนาขึ้นนี้ มีจุดเด่นตอบความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในแง่ของความสามารถในการละลายน้ำที่ช่วยให้สามารถเติมเข้าไปในสูตรผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อสัมผัสได้หลากหลาย ไม่จำกัดเพียงแค่น้ำมัน, และยังช่วยลดการใช้ active dose เนื่องจากอนุภาคนาโนสามารถนำส่งสารสกัดได้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการซึมผ่านได้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนการใช้สารสกัด CBD ได้อีกด้วย” นักวิจัยนาโนเทค กล่าว


             ปัจจุบัน นวัตกรรมอนุภาคนาโนช่วยนำส่งสารสกัดจากพืชกลุ่มกัญชา-กัญชงนี้ วิจัยและพัฒนาแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเสาะหาผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบในกลุ่มของอิมัลเจล ครีม และโทนิค เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง และจะนำไปจัดแสดงภายในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 (18th NSTDA Annual Conference: NAC2023) ภายใต้หัวข้อ สวทช.: ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน (NSTDA: STI powerhouse to drive BCG economy for Thailand’s sustainable development) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี