นักวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพด้านการใช้จุลินทรีย์ในการผลิตไฮโดรเจนและการฟื้นฟูดินและน้ำที่ปนเปื้อนสารฆ่าแมลง จาก ม.ขอนแก่น คว้ารางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเภทบุคคล จากมูลนิธิโทเร ฯ ส่วนประเภทหน่วยงานเป็นของห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเซนเซอร์ มจธ.
คณะกรรมการสาขารางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้มีมติเอกฉันท์ยกย่องให้ “ศาสตราจารย์ ดร. อลิศรา เรืองแสง” จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย ขอนแก่น เป็นผู้ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคคล ประจำปี 2566
ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ดร. อลิศรา เรืองแสง เป็นนักวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยทำงานวิจัยหลักใน 2 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพพลังงาน ได้แก่ การศึกษาและการพัฒนากระบวนการผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวลโดยจุลินทรีย์ โดยงานวิจัยครอบคลุมตั้งแต่การปรับสภาพชีวมวลเพื่อที่จุลินทรีย์สามารถนำไปใช้ในการผลิตไฮโดรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การคัดแยกกล้าเชื้อ รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการผลิตไฮโดรเจนก่อนจะนำไปใช้ขยายขนาดการผลิตจากกระบวนการหมักแบบกะให้เป็นแบบต่อเนื่องในถังปฏิกรณ์ชีวภาพ และกลุ่มงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การกู้ฟื้นฟูดินและน้ำที่ปนเปื้อนด้วยสารคาร์โบฟูราน ซึ่งเป็นสารฆ่าแมลงที่นิยมใช้ในการควบคุมศัตรูพืชในนาข้าว โดยได้วิจัยคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายสารคาร์โบฟูราน และทดสอบความสามารถของจุลินทรีย์ที่คัดเลือกได้ทั้งในรูปเซลล์อิสระและเซลล์ตรึงในการย่อยสลายสารคาร์โบฟูรานทั้งในดินและน้ำ
สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปีนี้ คือ “ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเซนเซอร์ – มจธ. (Sensor Technology Laboratory – KMUTT)” ซึ่งได้เริ่มงานวิจัยด้านไบโอเซนเซอร์ ที่มจธ. มาตั้งแต่ปี 2528 โดยดำเนินงานวิจัยด้านเอนไซม์ไบโอเซนเซอร์ที่เชื่อมโยงสาขาทั้งด้านเทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุ และอิเล็กทรอนิกส์ และได้บุกเบิกงานวิจัยด้านวัสดุพิมพ์สกรีนเพื่อเป็นอิเล็กโทรดเซนเซอร์จนนำไปสู่การก่อตั้งบริษัทเพื่อผลิตและจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้วิจัยวัสดุนาโนและสารชีวโมเลกุลเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านเซนเซอร์ความไวสูงและสามารถวัดพร้อมกันหลายสารตัวอย่าง รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกับการพัฒนาเซนเซอร์เพื่อนำไปใช้ตรวจวัดในผู้ป่วยหรือในอุปกรณ์สวมใส่ เป็นต้น ห้องปฏิบัติการนี้ยังได้รับการยกย่องจากผู้ประเมินนักวิจัยระดับโลกให้เป็นห้องปฏิบัติการระดับโลกอีกด้วย
นอกจากรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว มูลนิธิโทเรฯ ยังได้มอบทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี โดยหัวข้อวิจัยจะต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมกระตุ้นให้มีการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัยด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับโรงเรียน มูลนิธิฯ ยังได้คัดเลือกให้มีผู้ได้รับรางวัลในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยได้มอบเงินรางวัลให้กับครู/อาจารย์ผู้ชนะรางวัลในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เงินรางวัลรวม 210,000 บาท และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เงินรางวัลรวม 290,000 บาท รวมทั้งได้มอบเงินสนับสนุนห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนต้นสังกัด เพื่อสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ วิทยาศาสตร์สำหรับการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ของครูและนักเรียนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 28 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่บุคคลและหน่วยงาน ที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยบุคคลและหน่วยงานที่ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะได้รับโล่รางวัล พร้อมด้วยเงินรางวัลมูลค่ารางวัลละ 400,000บาท พร้อมทั้งมอบทุนสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 4,000,000บาทให้กับนักวิจัยที่มีผลงาน โดดเด่น และรางวัลแก่ครูอาจารย์ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์อีก 700,000บาท