งานวิจัยหากไม่มีการต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะอยู่ยุคสมัยใด คำว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ก็ยังเป็นคำที่ถูกนำมาใช้ให้ได้ยินกันอยู่เสมอ ๆ
แต่การลงจาก “หิ้ง” สู่ “ห้าง” ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับผลงานวิจัยที่เป็นเทคโนโลยีเชิงลึกที่นอกจากนักวิจัยจะต้องทุ่มเทเวลาในการสร้างองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญจนประสบความสำเร็จเกิดเป็นนวัตกรรม และต้นแบบในห้องปฏิบัติการแล้ว สิ่งที่ยากยิ่งกว่าก็คือการได้ออกจากห้องปฎิบัติการ ต่อยอดผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนในการผลิตเป็นจำนวนมากและส่งต่อไปจนถึงมือประชาชน
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงให้ทุนสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์
อย่างเช่น การให้ทุนสนับสนุน “ โครงการการพัฒนาเอนไซม์สลายยาฆ่าแมลง เพื่อเป็นส่วนประกอบฟังก์ชั่นของน้ำยาล้างผักผลไม้ในตลาดอาหารปลอดภัยและการผลิตต้นแบบเพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์” ซึ่งดำเนินการโดย “ บริษัท ไบโอม จำกัด ” ดีพเทคสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ spin-off จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ “บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)”
ศาสตราจารย์ ดร.อลิสา วังใน CTO ของไบโอม บอกว่า “เมื่อผลงานวิจัยพร้อม รอให้ผู้ประกอบการเข้ามาชี้เป้าว่าจะสามารถนำไปตอบโจทย์ใครได้บ้าง หน่วยงานให้ทุนอย่าง บพข. จะเป็นเสมือนกามเทพ ที่นอกจากจะพานักวิจัยและผู้ประกอบการให้มาเจอกันแล้วยังให้ทุนสนับสนุนในการเริ่มต้นที่จะทำต้นแบบออกมา พร้อมทั้งประเมินศักยภาพในด้านต้นทุนการผลิต การขยายกำลังการผลิต ซึ่งจะต้องมีการทดสอบ ปรับปรุง และสุดท้ายถึงออกสู่เชิงพาณิชย์ได้”
ขณะที่บริษัท บีบีจีไอ จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล มากว่า20 ปี และกำลังมุ่งสู่การเป็นผู้นำกลุ่มบริษัทผลิตภัณฑ์ชีวภาพด้วยนวัตกรรมสีเขียวและดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน
การก้าวเข้ามาร่วมทุนกับดีพเทคสตาร์ทอัพอย่างไบโอม นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีจีไอ บอกว่า ปัจจุบัน บีบีจีไอ พยายามทรานฟอร์มตัวเองด้วยการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่เข้ามาต่อยอดจากธุรกิจเดิม ทำให้ต้องมองหาพันธมิตรที่มีศักยภาพ จึงร่วมทุนกับไบโอม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ โดยไบโอมจะเป็นผู้พัฒนางานวิจัยออกมาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ส่วนบีบีจีไอจะนำต้นแบบมาสู่กระบวนการในการขยายกำลังผลิตและทำการตลาด รวมถึงหาโจทย์ที่เป็นความต้องการของตลาดมาให้กับไบโอม ซึ่งเป็นต้นน้ำในการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
“งานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ สิ่งที่ยากที่สุด คือ การขยายกำลังการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน นักวิจัยจะเชี่ยวชาญเรื่องจุลินทรีย์ และการวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ แต่เมื่อเข้าไปสู่โรงงานจะเป็นเรื่องของวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำไปใช้เพื่อที่จะให้ได้สินค้าที่ต้องการ และสุดท้ายก็คือด้านการตลาด ที่จะบอกได้ว่างานวิจัยนั้น ๆ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร บีบีจีไอ จะเป็นอีกหนึ่งจิกซอร์ของไบโอม ในการใช้องค์ความรู้จากไบโอมมาพัฒนาเพื่อเป็นตลาดในอนาคต และ เอนไซม์ล้างผักผลไม้ย่อยสลายยาฆ่าแมลง จะเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกของบีบีจีไอที่ร่วมทุนกับไบโอม”
นายกิตติพงศ์ บอกว่าเรื่องของยาฆ่าแมลงมีปัญหามานาน เพราะใช้ในการป้องกันแมลงศัตรูพืช แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง จะมีสารตกค้างซึ่งปัจจุบันพบว่ามีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในผักและผลไม้ “เอนไซม์ล้างผักผลไม้ย่อยสลายยาฆ่าแมลง” ที่จะผลิตขึ้นถือเป็นนวัตกรรมที่เป็น Total Solution เนื่องจากโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว มีการใช้น้ำยาล้างผักมานาน โดยเป็นการนำเอามาชะล้างให้ยาฆ่าแมลงที่อยู่บนผักนั้นหลุดออกไปให้มากที่สุด แต่งานวิจัยของไบโอมแตกต่าง ไม่ได้เป็นการชะล้าง แต่เป็นการต่อยอดใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายยาฆ่าแมลงในดิน มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเปลี่ยน แปลงสภาพยาฆ่าแมลงตกค้างจากที่เคยเป็นพิษ ให้กลายเป็นไม่เป็นพิษได้ น้ำที่ชะล้างออกมาจึงไม่มีพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องเสียเวลาและงบประมาณในการบำบัด เรียกว่าเป็นการตัดวงจรความเป็นพิษ ตอบโจทย์ได้ทั้งระบบ แก้ปัญหาทั้งเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยในอาหารและไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการขอ อย. คาดว่าจะสามารถผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปลายไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ปีนี้
ผู้บริหารบีบีจีไอ มองการให้ทุนสนับสนุนของบพข. ในช่วงแรกของการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการทำเรื่องใหม่ที่ช่วงแรก ๆจะมีความเสี่ยง จึงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่วนการกำหนดเงื่อนไขการขอทุนที่จะต้องมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยนั้น จะเป็นการทำให้เกิดความมั่นใจว่างานวิจัยนั้น ๆ สามารถที่จะต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้
“ไบโอเทคโนโลยี เป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพ รวมถึงเป็นเทรนด์ของโลกทั้งด้านเทคโนโลยี สุขภาพและความยั่งยืน การทำธุรกิจด้านไบโอเทคโนโลยี เชื่อว่าจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และช่วยกันสร้างอีโคซิสเต็มส์ขึ้นมา”
สำหรับผู้สนใจนวัตกรรมคนไทยพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ รอชมได้ที่งาน “บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงโลกด้วยวิจัยและนวัตกรรม” (PMUC Research for Thailand’s Competitiveness 2023) ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายนนี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์