ทีมวิจัยไบโอเทค พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนลูกผสมจากจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย ประสิทธิภาพสูง ใช้วัตถุดิบราคาถูก ช่วยลดการนำเข้าและลดต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.นิรันดร์ รุ่งสว่าง นายเอกชัย ภูสีน้ำ และ ดร.สุทิพา ธนพงศ์พิพัฒน์ ทีมวิจัยระบบจุลินทรีย์เพื่อผลิตชีวโมเลกุล ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนลูกผสมจากจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย ช่วยลดการนำเข้าและลดต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
ดร.นิรันดร์ รุ่งสว่าง นักวิจัยอาวุโส ไบโอเทค เปิดเผยว่า โปรตีนลูกผสม (Recombinant protein) คือ โปรตีนที่เกิดจากการผลิตโดยเซลล์เจ้าบ้านที่ปรับปรุงพันธุกรรมเพื่อการผลิตโปรตีนในปริมาณสูง และสามารถพัฒนากระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีความสามารถในการผลิตโปรตีนลูกผสมระดับอุตสาหกรรม ทำให้ต้องนำเข้าโปรตีนลูกผสม เช่น เอนไซม์ เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ประเทศขาดดุลการค้าเป็นจำนวนมาก แม้ว่าประเทศไทยจะมีข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญที่สร้างโปรตีนและชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาการผลิตโปรตีนจากจุลินทรีย์ตามธรรมชาติมักมีปัญหาการเจริญเติบโตช้า ได้โปรตีนเป้าหมายในปริมาณต่ำและต้นทุนสูง นอกจากนี้ ยังขาดการพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อนำมาใช้เป็นเซลล์เจ้าบ้านที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการผลิตโปรตีนลูกผสมที่มีอิสระในการดำเนินการ (Freedom to operate)
ทีมวิจัยไบโอเทค จึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนลูกผสมจากจุลินทรีย์ ได้แก่ ยีสต์ทนร้อนสายพันธุ์ไทยที่มีประสิทธิภาพสูง เจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิกว้าง และใช้แหล่งคาร์บอนราคาถูกได้หลายชนิด เช่น น้ำตาลทราย และกากน้ำตาล จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับยีสต์สายพันธุ์ทางการค้า ปัจจุบันนักวิจัยได้พัฒนาการผลิตโปรตีนลูกผสมออกนอกเซลล์ ซึ่งจะสามารถนำยีสต์ทนร้อนไปใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรมได้อย่างกว้างขวาง
โดยระบบการผลิตโปรตีนลูกผสมฯ ที่พัฒนาขึ้นนี้ มีจุดเด่นคือ มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตโปรตีนลูกผสมชนิดต่าง ๆ ที่มีความต้องการทางอุตสาหกรรม เป็นระบบที่มีความปลอดภัย ทนร้อนได้สูง มีความจำเพาะกับวัตถุดิบราคาถูก ไม่ติดสิทธิต่างประเทศ มีอิสระในการดำเนินการ มีต้นแบบผลิตภัณฑ์ และสามารถผลิตโปรตีนลูกผสมต้นแบบได้หลากหลายชนิด อาทิ เอนไซม์ไซแลนเนส เอนไซม์ไฟเตส อินเตอร์เฟอรอล และโปรตีนแคปสิดของไวรัส
การคิดค้นและพัฒนางานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมส่วนผสมฟังก์ชั่น และอุตสาหกรรมยาชีววัตถุสำหรับคนและสัตว์