ปฏิเสธไม่ได้ว่า…หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคมนาคมแห่งอนาคต อย่าง “ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ” ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิจัยและพัฒนา ( R&D) ในการสร้างองค์ความรู้เชิงลึกที่เป็นของตนเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
“พนัส แอสเซมบลีย์” คือ ตัวอย่างของบริษัทสัญชาติไทยที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า การสัญจรอัจฉริยะและโมบิลิตี้แพลตฟอร์มที่สนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ฯ มีการวิจัยและพัฒนาด้านยานยนต์มานานแล้ว โดยก่อนหน้านี้อาจไม่ได้เรียกว่า R&D แต่เป็นกระบวนการทำ Engineering และเริ่มมีความชัดเจนขึ้นเมื่อ 8-9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมองว่ากระบวนการนี้สำคัญ เพราะทำให้เข้าใจและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อมาทำเรื่อง Electric Vehicle (EV) หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ของบริษัท การทำ R&D แบบเทคโนโลยีเชิงลึกหรือดีพเทคจะสำคัญอย่างมาก เพราะเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้าแม้จะประกอบให้วิ่งได้ แต่ถ้าโปรแกรมไม่ดีก็อาจมีปัญหาได้ นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาให้เข้ากับการใช้งานในประเทศไทยซึ่งมีปัจจัยเรื่องสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย
“ผมคิดว่าอนาคตของประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องลงลึกด้าน R&D จริง ๆ โดยเฉพาะสินค้าทางด้านยานยนต์ที่ไทยมีแบรนด์ที่เป็นของคนไทยเองน้อยมาก แต่มีต่างชาติเข้ามาผลิตในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งเรียกว่าเป็น GDP ที่นับแค่มูลค่าการผลิตที่เกิดขึ้นในไทย แต่ถ้าเรามองถึงสิ่งที่เรียกว่า GNP ซึ่งเป็นมูลค่าการผลิตที่ใช้ปัจจัยการผลิตของประเทศแล้ว จะพบว่าผลิตภัณฑ์ของคนไทยจริง ๆ เฉพาะด้านยานยนต์นั้นแทบจะไม่มีเลย ดังนั้นการทำ R&D แบบเชิงลึก จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มสร้าง GNP ขึ้นมาอย่างจริงจัง ซึ่งหากปล่อยตามกลไกของตลาด จะมีแต่ GDP จากการที่ต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานผลิต หรือนำเข้ารถไฟฟ้าทั้งคัน และสุดท้ายเราจะเป็นเหมือนเดิมคือ การรับจ้างผลิตหรือขายแรงงาน”
ที่ผ่านมา บริษัทพนัสฯ ได้มีการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยร่วมมือสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้รับการสนับทุนวิจัยจากหน่วยบริการและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการพัฒนา “ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงหรือ EV Conversion” ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของตลาดโดยเฉพาะในธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนฝูงรถขนส่งเดิมที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปใช้น้ำมันมาเป็นการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในงบประมาณที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการใช้น้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ยังรองรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่อนาคตภาคเอกชนจะต้องปรับเปลี่ยนระบบขนส่งไปสู่ระบบที่ปล่อยมลพิษต่ำ
นายพนัส กล่าวว่า อยากให้เมืองไทยมีเทคโนโลยีของตัวเอง และจะพยายามกระจายออกไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อยให้มากที่สุดผ่านการพัฒนาบุคลากร การฝึกงานนักศึกษา การส่งเสริมสตาร์ทอัพ และผลักดันให้เอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถต่าง ๆ ได้มีโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้เชิงลึกมากขึ้น โดยพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์ ซึ่งไม่ใช่แค่ซื้ออุปกรณ์มาประกอบ หรือซ่อมเปลี่ยนอะไหล่ แต่เป็นการเรียนรู้ที่ได้เข้าถึงต้นตอของเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้บริษัทเล็ก ๆ เหล่านี้ สามารถที่จะคิดค้นนวัตกรรมหรือพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทานขึ้นมาได้ในอนาคต
“เรามองโครงการ EV Conversion ที่ บพข .ให้การสนับสนุนจะเป็นเสมือน “คานงัด” ที่เร่งยกระดับเอสเอ็มอีไทยให้สามารถสร้างนวัตกรรมเองได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งทุนจาก บพข. มีความสำคัญกับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างมาก เพราะหากใช้ความสามารถของผู้ประกอบการอย่างเดียวไม่อาจจะพัฒนางานวิจัยเชิงลึกให้ทันโลกและทันต่อความต้องการของตลาดได้ อย่างไรก็ดี ยังอยากเห็นการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ทั้งด้าน Ecosystem และมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวที่มีการกำหนดหมุดหมายที่ชัดเจนด้าน EV Conversion โดยกำหนดอยู่ในโรดแมปของประเทศ ซึ่งภายในปี 2030 จะต้องมีรถ EV Conversion ถึงประมาณกว่า 8 หมื่นคัน ”
ด้าน ดร. วิมล แสนอุ้ม ผู้อำนวยการหน่วยกลยุทธ์ธุรกิจนวัตกรรม บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด เปิดเผยว่าเนื่องจากเรามองรถไฟฟ้าเป็นคอมพิวเตอร์ที่วิ่งได้ ซอฟต์แวร์จึงเป็นหัวใจสำคัญของรถ และส่งผลกระทบต่อการใช้งานในอนาคต หากนำเข้ารถไฟฟ้าจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว อาจเจอปัญหาการเข้าถึงซอฟต์แวร์ไม่ได้ ติดลิขสิทธิ์หลังการขายรวมถึงการเข้ารหัสต่าง ๆ และขาดการพัฒนาบุคลากร ทำให้เราต้องศึกษาจนลึกซึ้ง
โดยในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงหรือ EV Conversion จะเป็นอุตสาหกรรมที่กลุ่มบริษัทที่เป็นคนไทยได้ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ มีศักยภาพเพียงพอที่ทำได้ โดยเป็นกระบวนการเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นพลังานไฟฟ้า ซึ่งจะนำรถที่ใช้น้ำมันที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 5-12 ปี มาเอาระบบเครื่องยนต์เดิมทั้งหมดออก แล้วใส่ชุดเพาเวอร์แพค ซึ่งประกอบด้วย ชุดแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า เพลา คอนโทรลเลอร์ระบบควบคุม และซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการต่าง ๆ รวมถึงระบบสื่อสารของตัวรถเข้าไปแทนที่ โดยใช้ตัวโครงสร้างรถเดิมที่ยังอยู่ในสภาพดี ทำให้การใช้งานเหมือนกับรถไฟฟ้าใหม่ที่นำเข้าทั่วไป แต่ราคาถูกกว่า ซึ่งเป้าหมายของพนัส ฯ คือ ถูกกว่ารถใหม่ไม่ต่ำกว่า 30 %
ทั้งนี้ “ รถบรรทุกหกล้อไฟฟ้าดัดแปลง” ซึ่งได้รับทุนจาก บพข. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งานระยะสุดท้าย คาดว่าจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 3 ปีนี้
ดร. วิมล ย้ำว่า จุดเด่นผลิตภัณฑ์ของพนัส แอสเซมบลีย์ คือ การออกแบบที่คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของไทยเป็นหลัก รถไฟฟ้าสำหรับการขนส่งเชิงพาณิชย์ของพนัสจะมีเกียร์สำหรับขึ้นเขา และเมื่อลงเขาจะมีระบบชาร์จไฟจากมอเตอร์กลับเข้ามาที่แบตเตอรี่ มีระบบระบายความร้อนแบบอัตโนมัติให้กับระบบเพาเวอร์แพค และมีระบบบริหารจัดการข้อมูลอัจฉริยะต่าง ๆ ข้อมูลจีพีเอส สามารถส่งข้อมูลขึ้นคลาวด์ แสดงผลผ่านแดสบอร์ด และกลายเป็นบิ๊กดาต้าในอนาคต โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพถนน การบรรทุกต่าง ๆ การควบคุมกฎหมายและการตรวจสอบย้อนกลับ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโปรแกรมออกแบบวิเคราะห์ขนาดแบตเตอรี่ที่เหมาะสมกับพื้นที่และการใช้งานจริงของลูกค้า เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้งานรถไฟฟ้าดัดแปลง มากที่สุด
“ตลาด EV Conversion แม้จะมีดีมานด์ในตลาดค่อนข้างสูง แต่ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งพนัสฯ มุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐาน โดย EV Conversion จะเป็นมิติใหม่ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและเกิดเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG อย่างแท้จริง”
อย่างไรก็ดี พนัส แอสเซมบลีย์ เตรียมนำเสนอผลงาน ภายในงาน “ เชื่อมโลก เชื่อมไทย เพิ่มขีดความสามารถทุกธุรกิจด้วย งานวิจัย และ นวัตกรรม” หรือ “PMUC RESERCH for Thailand’s Competitiveness 2023 ” ซึ่งหน่วยงานบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์