ไปแล้วหรือยัง! งาน “ บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยวิจัยและนวัตกรรม ” งานแรกที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่จาก บพข. ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการที่มองหางานวิจัยพร้อมใช้ ได้มีโอกาสพบปะกับนักวิจัยเจ้าของผลงานที่พร้อมก้าวเดินและร่วมผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ใช่สำหรับผู้ใช้ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ห้ามพลาด 26-27 เมษายนนื้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 หรือ PMUC Research for Thailand’s Competitiveness 2023” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ และเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) เพื่อขยายผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่าง บพข. และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ( depa) และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ฉบับที่ 2 ในด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด (Carbon Footprint) ระหว่าง บพข. และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ภายในปี 2580 ซึ่งหลายๆ หน่วยงานรวมถึง อว. จะร่วมขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยใหญ่ติดอันดับ 24 ของโลก และใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ซึ่งไทยถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและยังเป็นจุดที่เชื่อมโยงไปยังเอเชียตะวันออก ทำให้เมื่ออาเซียนรวมกับจีนและอินเดียแล้ว จะมีขนาดเศรษฐกิจถึง 1 ใน 3 ของโลก และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การที่ประเทศไทยอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นเลิศ จะเป็นแรงเสริมทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสูงยิ่งขึ้น ซึ่งจากผลการดำเนินงานของ บพข.ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักวิจัยไทยในยามวิกฤติที่สามารถพัฒนางานวิจัยต่าง ๆ ได้ดี โดยมีการเปลี่ยนแปลงหลักการคิดจากเดิมที่เคยแต่ซื้อเทคโนโลยี มาเป็นการพัฒนาได้เอง จึงอยากให้คนไทยเชื่อว่า เราสามารถเป็นชาติวิทยาศาสตร์ได้ และมีความสามารถในการแข่งขันที่นับวันจะสูงขึ้น ทั้งความสามารถด้านยา เครื่องมือการแพทย์ ด้านการเกษตร การสร้างโรงงานต้นแบบ รวมถึงมีการสร้างศูนย์วิจัยร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กล่าวว่า บพข. มีภารกิจหลักในการจัดสรรทุนวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งเน้นบริหารจัดการทุนที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และศาสตร์ต่าง ๆ เชื่อมโยง Value Chain ที่ก่อให้เกิด “อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูง” สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“ บพข. เกิดขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจ “ปิดช่องว่าง” ของปัญหาในระบบวิจัยไทย ขับเคลื่อนผลงานวิจัยให้ลงจากหิ้งออกจากห้องปฏิบัติการไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้มากที่สุด เพื่อ “พลิกโฉมไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และพร้อมสำหรับโลกอนาคต” ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ.2566 – 2570 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยบทบาทของ บพข. จะเป็นหน่วยที่ให้ทุนกับทุกภาคส่วน มุ่งนำเอางานวิจัยมาพัฒนาและต่อยอดให้เป็นจริงในเชิงพาณิชย์หรือเชิงอุตสาหกรรมได้ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ก่อตั้งมา บพข. ได้มีการจัดสรรทุนวิจัยด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปแล้วกว่า 907 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท มีเอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อยร่วมสนับสนุนโครงการมากกว่า 500 บริษัท ”
ปัจจุบัน บพข. ได้จัดสรรทุนวิจัยครอบคลุม 8 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ กลุ่มอาหารมูลค่าสูง กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต และกลุ่มโลจิสติกส์และระบบราง นอกจากนี้ยังให้ทุนสนับสนุนแผนงานกลไกขับเคลื่อนประเทศใน 4 แผนงาน ได้แก่ แผนงานโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure; NQI) แผนงานการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ เพื่อการพัฒนา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (Global Partnership) แผนงานการสร้างแพลตฟอร์มบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Science and Technology Accelerator Platform) และแผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ขนาดใหญ่ (Innovation Driven Enterprise: IDE)
อย่างไรก็ดี บพข. ได้เล็งเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานวิจัยภาครัฐ และภาคเอกชน ให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้จัดงาน “บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 หรือ PMUC Research for Thailand’s Competitiveness 2023” ขึ้น
สำหรับกิจกรรมไฮไลท์ในวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา มีการเสวนา “The CEO views: Thailand Competitiveness, Achievement through Research and Innovation” โดย CEO องค์กรชั้นนำของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ โดย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงความสำคัญของระบบนิเวศนวัตกรรมว่า ต้องเป็นนโยบายแห่งชาติ โดยระบบนิเวศจะต้องเป็นการทำงานร่วมมือกันแบบไม่มีเงื่อนไข ไร้ขอบเขต ไม่มีข้อจำกัดและต้องอยากที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันและมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ การสร้างระบบนิเวศจึงสำคัญมากโดยเฉพาะเรื่องงานวิจัยที่ต้องมองตลาดเป็นหลัก และเมื่อนักวิจัยทำสำเร็จแล้วไม่จำเป็นต้องรอเอกชนเข้ามาแต่ควรจะมีเวทีหรือแพลตฟอร์มให้ผู้วิจัยและผู้ใช้งานวิจัยได้มีพบกัน
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมว่า มีทั้งจากภายนอกเช่นดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น สงครามเทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วน ภายในประเทศเองคือ การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการที่ประเทศไทยอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานาน ซึ่งตัวเลขปี 2565 เป็นปีแรกที่อัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราผู้เสียชีวิต เรียกได้ว่าประเทศไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความท้าทาย เพราะสิ่งนี้ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกำลังลดลง จึงควรที่จะรีบพัฒนา โดยภาคอุตสาหกรรมในวันนี้จะมีโจทย์ที่ชัดเจน โดยมุ่งไปที่อุตสาหกรรมใหม่ คือ เอสเคิร์ฟใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งมีต้นแบบการนำไบโอเทคโนโลยีไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ และสุดท้ายคือการตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน พลังงานสีเขียว และพลังงานสะอาด ซึ่งภาคอุตสาหกรรมพร้อมที่จะทำงานกับนักวิจัย ขณะที่เอสเอ็มอี ที่ต้องการพัฒนาไปสู่การเป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี นั้นจะต้อง Go Digital , Go Innovation และ Go Global
ขณะที่นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแข่งขันในตลาดโลกทำให้บริษัทต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาโดยใช้การวิจัยและพัฒนาใน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ปัจจุบันความท้าทายที่สำคัญของอุตสาหกรรมนี้ ก็คือผลกระทบจากการเกิดสงครามที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่าง ๆ สูงขึ้น ซึ่งจะต้องดูว่าจะเอานวัตกรรมเข้ามาช่วยได้อย่างไร อยากให้ภาครัฐ มองถึงการแข่งขันในตลาดโลก ว่าจะช่วยเอกชนให้ออกไปต่อสู้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั่วโลกได้อย่างไร ด้วยงบประมาณประเทศที่มีจำกัด ดังนั้นต้องจัดลำดับความสำคัญว่ายุทธศาสตร์ประเทศไทยจะไปทางไหน เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่นายสุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีเป็นผู้บุกเบิกเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของการทำนวัตกรรมคือจากเดิมบริษัทจะทำนวัตกรรมเพื่อใช้เองหรือตอบโจทย์สินค้า แต่ปัจจุบันสินค้าทุกอย่างในอนาคตต้องตอบโจทย์ใน 2 เรื่องคือ Low Waste และ Low Carbon โดยสินค้าที่ออกมาจะมีจุดขายที่ Green ที่สุด
ด้าน นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าทีมขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS NEXT บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี 5 จีที่มีต่ออุตสาหกรรม และเทคโนโลยีเอไอเป็นสิ่งที่จำเป็น ปัจจุบันทุกบริษัทจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต และเมื่อเห็นเทรนด์ที่จะทำกับธุรกิจของตนเองแล้ว บางเทคโนโลยีอาจจะสร้างเองหรือถ้าต้องการอย่างรวดเร็วก็คือการซื้อมาใช้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็คือ อย่าทำเองคนเดียวทั้งหมด ควรใช้ความเป็นพาร์ทเนอร์ชิฟกับภาครัฐและภาคเอกชนให้มากที่สุด
นอกจากนี้ในภาคนิทรรศการ ยังมีการนำเสนอศักยภาพของผลงานวิจัยไทยที่ บพข. ให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม และที่น่าสนใจ คือ ตัวอย่างผลงานวิจัยที่ได้รับการผลักดันจนสามารถออกสู่ตลาดได้สำเร็จ เช่น “เส้นโปรตีนไข่ขาว” นวัตกรรมด้านอาหารที่ช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ผลงานวิจัยจากคณะสหเวชศาสตร์ และบริษัท ทานดี อินโนฟูดจำกัด ภายใต้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เอาใจคนชอบกินเส้น โดยทำจากโปรตีนไข่ขาว 100% โปรตีนสูง ไขมันต่ำ และปราศจากกลูเตน ผลงานนี้ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย และเป็น 1 ใน 21 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการประกวดสตาร์ทอัพด้านอาหารแห่งอนาคต ซึ่งได้มีโอกาสเสิร์ฟให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจในการประชุมเอเปคที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการผลิตเพื่อจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ทานน์ดี”
“ฟิล์มปิดหน้าถาดบรรจุภัณฑ์จากเม็ดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” ผลงานวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งต่อยอดความร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวงและ บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ในการประยุกต์ใช้กับถาดสลัดของโครงการหลวง ที่นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีความบาง ใส ไม่เกิดฝ้า และช่วยยืดอายุผักสลัดให้คงสภาพสดใหม่ในชั้นวางจำหน่าย และ “นํ้ายาล้างผักจากเอนไซม์สลายสารพิษฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักและผลไม้” ผลงานวิจัยจาก บริษัท ไบโอม จำกัด ดีพเทคสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่ง spin-off จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร่วมทุนกับ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) โดยน้ำยาล้างผักฯ นี้มีจุดเด่นที่เป็นการสลายโครงสร้างความเป็นพิษของยาฆ่าแมลง ไม่ใช่การชะล้างเหมือนน้ำยาล้างผักทั่ว ๆ ไป ทำให้เป็นการตัดวงจรความเป็นพิษ ไม่มีสารพิษตกค้างในน้ำ จึงปลอดภัยกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
และกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การนำเสนอ “ผลงานวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง (Research Pitching)” ที่พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของนักวิจัยและผู้ประกอบการไทยในการนำเสนอโมเดลธุรกิจจากงานวิจัยให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ การเสวนา “ความสำเร็จของการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” จากผู้ประกอบการธุรกิจจากงานวิจัยตัวจริง เช่น บริษัท แม่น้ำเมคคานิกา จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการระบบบริหารคลังสินค้าอัจฉริยะ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาด้านการผลิตยาและเครื่องมือแพทย์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านยา และบริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสมุนไพรไทย
และกิจกรรม Hackathon “PMUC HACK” ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยและผู้ประกอบการได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการในการเขียนโครงการขอรับทุนวิจัย เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมมุ่งเป้าทั้ง 8 ด้าน รวมถึงกิจกรรมการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ที่จะจุดประกายความคิด ให้เห็นถึงโอกาสจากการทำธุรกิจจากงานวิจัย และเส้นทางการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงวิธีการที่จะนำพาธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศ