ดีแทคจับมืออาซีฟา นำ “5G โซลูชันบริหารพลังงานระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ” พลิกรูปแบบการใช้งานตู้สวิตช์บอร์ดไฟฟ้า หรือ MDB ในโรงงาน เผยเฟสแรกร่วมกันทดสอบในสำนักงานอาซีฟาก่อนรุกนำเข้าสายพานการผลิตเพื่อลูกค้าอุตสาหกรรม
นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ ดีแทคได้ร่วมมือกับอาซีฟาในการทำเทคโนโลยี 5G คลื่น 26 GHz หรือ Millimeter wave (mmWave) สู่การพัฒนา 5G โซลูชันบริหารพลังงานระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Energy Management) ร่วมกัน โดยมีแนวคิดที่จะนำ 5G ไปขับเคลื่อนภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งดีแทคมีแผนที่จะพัฒนาโซลูชันที่นำจุดเด่นของ 5G รองรับให้ครบทั้ง mMTC, eMBB และ URLLC นอกจากนี้ยังผสมผสานจุดเด่นของการใช้ 5G FWA ในการทำงานร่วมกันทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและภาคธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ของภาครัฐดังนั้นรูปแบบที่ได้ร่วมกับอาซีฟาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งของภาคอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต รวมทั้ง เชื่อว่าจะสามารถต่อยอดได้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อให้เกิดการนำ 5G มาขับเคลื่อนประเทศร่วมกัน”
ทั้งนี้ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือการทำธุรกิจขนาดใหญ่จะต้องมีการใช้อุปกรณ์เครื่องจักร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ดังนั้นกระแสไฟฟ้าจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบต่างๆ ในเดินหน้าเพื่อกระบวนการผลิต ธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น “5G โซลูชันบริหารพลังงานระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Energy Management)” จะมาช่วยป้องกันและแก้ปัญหาหรือลดความเสียหายที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า เช่น ไฟฟ้าตก ไฟฟ้าเกิน ไฟฟ้ากระชาก หรือไฟฟ้าดับ เป็นต้น ทั้งนี้ การไฟฟ้าฯ ได้ให้ข้อมูลปัญหาไฟฟ้า* ที่ทำให้เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าในโรงงานเกิดความเสียหาย อาจได้รับปัญหาจากแรงดันตกชั่วขณะเป็นปัญหาคุณภาพไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันส่งผลกระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามปัญหาแรงดันตกชั่วขณะสามารถป้องกันหรือแก้ไขได้
สำหรับพัฒนา 5G โซลูชันบริหารพลังงานระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Energy Management) จะมีส่วนประกอบของ Smart MDB คือ การนำ IoT ที่เชื่อมต่อด้วย 5G เข้าไปช่วยเพิ่มความสามารถให้ตู้ MDB หรือ Main Distribution Board ซึ่งเป็นตู้ที่ใช้ควบคุมระบบไฟฟ้าหลักของโรงงานและอาคารต่างๆ ให้สามารถส่งข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ มารวมศูนย์ที่แอปพลิเคชันได้แบบเรียลไทม์ ให้ผู้ใช้งานบริหารการใช้ไฟฟ้าได้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับระบบไฟฟ้าที่จะส่งผลให้ธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งแนวทางการวิเคราะห์ ตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้า แนวโน้มการใช้พลังงานไฟฟ้า และการแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุฉุกเฉินด้วยเทคโนโลยี 5G ที่รองรับ Massive IoT เช่น อุณหภูมิความร้อนภายในตู้ MDB ความชื้น การตรวจจับความเคลื่อนไหว การตรวจจับควัน การวัดการปิดเปิดประตูของตู้ MDB เป็นต้น
นอกจากการทดสอบ 5G โซลูชันบริหารพลังงานระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ ร่วมกับอาซีฟาแล้ว ดีแทคยังร่วมพัฒนาในส่วนของ 5G FWA หรือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ ในส่วนของอาคารและโรงงานของอาซีฟาเพื่อพัฒนาสู่รูปแบบการใช้งานในเฟสอื่นๆ ร่วมกันต่อไป
ด้านนายไพบูลย์ อังคณากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาซีฟา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นในส่วนของการพัฒนาสู่โซลูชันให้แก่กลุ่มธุรกิจ สาธารณูปโภค อุตสาหกรรม เรายังมุ่งมั่นที่จะสร้างนวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงาน เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถส่งมอบบริการให้แก่ผู้บริโภคขององค์กรได้ดำเนินกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ โรงงาน และอาคาร ซึ่งให้ความสำคัญต่อการบริหารพลังงานไฟฟ้าจากตู้ MDB หรือ Main Distribution Board เพราะเป็นตู้ที่ใช้ควบคุมระบบไฟฟ้าหลักจากที่การไฟฟ้าฯจ่ายกระแสไฟเข้าสู่โรงงานหรือองค์กรธุรกิจ ดังนั้น ถ้าตู้ MDB ขัดข้องจะต้องแก้ไขทันทีมิเช่นนั้นจะมีผลเสียรุนแรง ทั้งทำให้ระบบไฟฟ้าในโรงงานมีปัญหาส่งผลต่อผลผลิตทันที และบางกรณีอาจจะมีเหตุฉุกเฉินจึงต้องมอนิเตอร์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง การมีระบบ Monitoring ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดปัญหาต่างๆ และใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน”
ทั้งนี้อาซีฟา คือผู้นำของโซลูชันระบบบริหารจัดการไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจายและส่งจ่ายไฟฟ้า สวิตช์บอร์ดไฟฟ้า ระบบควบคุมอัตโนมัติ ระบบบริหารจัดการพลังงาน ตลอดจนบริการหลังการขายและบริการวิศวกรรมที่ครบวงจร โดยจะร่วมมือในการเป็นพันธมิตร 5G ร่วมกับดีแทคต่อไป
นอกจากนี้ ดีแทคยังเตรียมแผนที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมและพันธมิตรต่างๆ ให้ทดสอบและใช้งาน 5G คลื่น 26 GHz ใน use case รูปแบบต่างๆ อีกมากมาย อาทิ โซลูชันบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Management) ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security) เซ็นเซอร์คลังสินค้า (Warehouse Sensors) ระบบแจ้งเตือนผล (Intelligent Report) ระบบติดตามรถยนต์ (Smart Tracking – Vehicle) และ ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เป็นต้น
*ที่มา ข้อมูลการไฟฟ้านครหลวง คู่มือแรงดันตกชั่วขณะ สาเหตุและวิธีป้องกันแก้ไข