“รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2566 ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์สัตว์เพื่อความมั่นคงด้านอาหารและการอนุรักษ์ความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพสัตว์
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรม NRCT TALK นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 5 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้วิชาการและประเทศชาติ โดยมี “รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2566 (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา) เข้าร่วมกิจกรรม
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ซึ่ง “รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ” แห่งหน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2566 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา โดยมีผลงานการวิจัยที่โดดเด่นทางด้านทรัพยากรชีวภาพสัตว์และจีโนมิกส์ของสัตว์ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ และได้ใช้องค์ความรู้ทางพันธุกรรมพัฒนางานวิจัยเพื่อค้นหาระบบการกำหนดเพศและเปลี่ยนแปลงทางจีโนมของสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ทำให้เข้าใจระบบและกลไกการกำหนดเพศและสามารถนำไปวางแผนการปรับปรุงพันธุ์สัตว์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์ที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นต่าง ๆ
รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ จากหน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ มก. กล่าวว่า มีความสนใจศึกษาเรื่องจีโนมิกส์ หรือการถอดรหัสพันธุกรรมมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเห็นว่าพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นตัวควบคุมและกำหนดสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งการที่สามารถศึกษาภาพรวมของพันธุกรรมจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ รวมถึงทำให้เกิดการกินดีอยู่ดีของคนในชุมชนได้ในอนาคต
ทั้งนี้ผลงานวิจัยหลัก ๆ คือ งานวิจัยเพื่อค้นหาการเปรียบเทียบจีโนมและระบบการกำหนดเพศของสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ทำให้เข้าใจระบบและกลไกการกำหนดเพศ กลไกวิวัฒนาการ และสามารถนำไปวางแผนการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ และงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ของสัตว์ป่าและปศุสัตว์ ด้วยการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรม และประเมินโครงสร้างประชากรของสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในธรรมชาติ และในสถานีแหล่งเพาะ พัฒนาฐานข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมและลายพิมพ์ดีเอ็นเอของสัตว์ป่ากลุ่มต่าง ๆ โดยมีเครื่องมือประเมินความหลากหลายพันธุกรรมที่เป็นมาตรฐาน
สำหรับเรื่องของจีโนมสัตว์มีประโยชน์ ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์ ที่จีโนมจะเป็นเครื่องมือในการหาคุณสมบัติที่ดีในด้านต่าง ๆ ถือเป็นต้นทุนในการปรับปรุงพันธุ์ที่เรียกได้ว่าทำน้อยได้มาก สามารถตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร การเข้าใจระบบและกลไกการกำหนดเพศจะช่วยให้วางแผนการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ได้อย่างประสิทธิภาพ ทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิต การเพาะเลี้ยงรวมถึงการวางแผนจับคู่ผสมพันธุ์ได้อย่างแม่นยำในสัตว์บางชนิดเช่น กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน exotic อย่าง งู และอิกัวน่า ขณะเดียวกันยังเป็นประโยชน์ต่อสังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ช่วยอนุรักษ์และเพิ่มมูลค่าสัตว์ที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่น เป็นประโยชน์ในเรื่องของการท่องเที่ยวในธรรมชาติได้ เช่น ใช้ในการควบคุมหรือวางแผนในการกระจายตัวของสัตว์ป่าอย่างเช่น ช้าง ทำให้คนกับสัตว์ป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ และที่สำคัญยังใช้ประโยชน์ในการวางแผนการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ได้อีกด้วย
“เรื่องกวางผา เป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบสำเร็จและภูมิใจมาก โดยทำร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ วช. ผู้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในเบื้องต้น คือการขยายพันธุ์กวางผา โดยเริ่มต้นศึกษาพันธุกรรมกวางผาในแหล่งเพาะพันธุ์ วางแผนผสมพันธุ์ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า พันธุ์พืชได้ปล่อยสู่ธรรมชาติ ทั้งนี้กำลังติดตามผลการอยู่รอดในธรรมชาติอย่างไร ซึ่ง 200 ตัวที่มีอยู่ในธรรมชาติจะเข้าไปผสมพันธุกันแบบธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการเก็บอุจจาระของกวางผาในธรรมชาติมาศึกษา และนำมาประเมินค่าความเหมือนหรือความต่างของความต้องการในแหล่งเพาะพันธุ์ เพื่อปล่อยกวางผาไปสู่แหล่งธรรมชาติที่เหมาะสม”
รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร กล่าวว่า ในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร งานวิจัยเด่น ๆ ที่ทำอยู่ มี 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกคือ ปลาดุก ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจและมีอยู่ในธรรมชาติของประเทศไทย ปัญหาในปัจจุบันคือ ยิ่งเลี้ยงปลาดุกในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาดุก ยิ่งเลี้ยงมากจะยิ่งต้องขยายพื้นที่ในการเลี้ยงมาก แต่ผลผลิตกลับลดลง แสดงว่ามีปัญหาเรื่องพันธุกรรมและระบบการเลี้ยงต่าง ๆ งานวิจัยจึงเข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นตอของปัญหาคือเรื่องของพันธุกรรมของปลาดุกที่เอามาใช้เป็นประชากรตั้งต้น เพื่อที่จะผสมพันธุ์และทำให้รักษาคุณภาพของพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพันธุกรรรมไก่พื้นเมืองเพื่อทำให้ ไก่พื้นเมือง กลายมาเป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นและเพิ่มมูลค่าให้กับพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณภาพสูง รวมถึงเป็นโปรตีนทางเลือกให้กับชุมชน ทั้งชุมชนเปราะบางและชุมชนที่อยู่ในที่มีความเหลื่อมล้ำสูง