นาโนเทค สวทช. จับมือพันธมิตรร่วมพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่องความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัย และมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีภายในประเทศใน 2 ปี
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(.สวทช.) ร่วมกับ 8 หน่วยงานพันธมิตร ร่วมลงนามในโครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัย และมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีภายในประเทศใน 2 ปี (2564-2565) นำร่องกลุ่มเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมที่ใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต หวังผลักดันให้เกิดการนำมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีไปใช้สร้างความเชื่อมั่นให้ผลิตภัณฑ์ไทยในตลาดโลก
ทั้งนี้การลงนามความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว เป็นการต่อยอดจากความร่วมมือระหว่าง นาโนเทค และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ต่อการพัฒนานาโนเทคโนโลยีในประเทศไทย รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัย และมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีภายในประเทศ
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า นาโนเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับจริยธรรมและความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งสำคัญคู่ขนานไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี ประเทศไทยได้จัดทำแผนยุทธ์ศาสตร์จริยธรรมและความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติขึ้น เพื่อบริหารจัดการด้านความรู้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการส่งเสริมความตระหนักให้กับประชาสังคม
“แผนยุทธ์ศาสตร์จริยธรรมและความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ” เกิดขึ้นและนำไปสู่การจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรม “นาโนเทคโนโลยี” มอก. 2691 เพื่อการพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนในประเทศไทย นอกเหนือจากความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของเทคโนโลยีแล้ว การเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคในเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรฐาน และความปลอดภัยก็มีความสำคัญอย่างมาก รวมไปถึงการส่งเสริมให้ประชาชนและสังคมได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี และมีส่วนร่วมในการติดตาม และเฝ้าระวังภายในชุมชนและสังคม
“สิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ คือเราจำเป็นต้องร่วมมือกันระหว่างองค์กร ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน สร้างความรู้ และความตระหนักสู่ภาคประชาสังคมในวงกว้าง จากการดำเนินงานที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, ฉลากผลิตภัณฑ์นาโน, คู่มือความรู้ทางวิชาการ และการจัดอบรมสัมมนา ทั้งนี้คาดว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นร่วมกัน อย่างน้อย 1,000 คนต่อปี และจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยี ปีละ 2 ฉบับ รวมถึงมีภาคอุตสาหกรรมที่สนใจเรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี เข้าร่วมอย่างน้อย 100 บริษัท” ดร.วรรณีกล่าว
พลตรี รศ.ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู ประธานคณะทำงานโครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากองค์กรทั้งภาครัฐ และสมาคมต่าง ๆ จำนวน 9 แห่งที่จะมาร่วมขับเคลื่อน สนับสนุน และส่งเสริม ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงการนำ มาตรฐาน และความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีสู่การประยุกต์ใช้ในในระดับมหภาค
โดย 9 องค์กรเครือข่ายพันธมิตร ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มที่สนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการและเทคนิค (Technical support) ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ, สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กลุ่มที่ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มผู้ใช้ที่จะได้รับผลประโยชน์ (User) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายขนาดใหญ่อย่างครบวงจร
พลตรี รศ.ดร.ชัยณรงค์ กล่าวว่า หลังจากการลงนามความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ พันธมิตรทั้ง 9 จะร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) โดยในช่วง 2 ปีจากนี้ จะมุ่งเน้นการสร้างความตระหนัก และความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรฐานฯ ทั้ง 7 เล่ม ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีการใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดการนำมาตรฐานดังกล่าวไปปรับใช้กับองค์กรของตนในอนาคต ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดสัมมนาวิชาการ นิทรรศการ และการเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักถึงมาตรฐาน ความปลอดภัย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต
“การสร้างความรู้ ความเข้าใจในมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีและความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีนั้น จะช่วยให้หน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ สามารถดำเนินการได้อย่างมีมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยให้กับพนักงานหรือผู้ปฏิบัติงาน ในขณะเดียวกัน ก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรและผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้กับผู้บริโภคอีกด้วย เป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานาโนเทคโนโลยีพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย” พลตรี รศ.ดร.ชัยณรงค์กล่าว