ทีมนักวิจัยม.ธรรมศาสตร์คว้ารางวัลใหญ่ ITEX 2023 Best Invention Award – International จากเวที “The 34th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2023) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยจาก 20 หน่วยงาน สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย ในเวที “The 34th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2023) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤษภาคม 2566 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลและมอบ special prize on stage ให้กับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที ITEX 2023 ร่วมด้วยนายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม มอบ special prize on stage ให้กับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที WYIE 2023 ซึ่งเป็นเวทีระดับเยาวชน
ทั้งนี้ในงานดังกล่าวเป็นที่น่ายินดีที่นักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลพิเศษของงาน on stage คือ รางวัล ITEX 2023 Best Invention Award – International จากผลงานเรื่อง “ การพัฒนาและสมบัติของพอลิพรอพิลีน/พอลิเอทิลีน ไวนิลอะซิเตท/ไมโครเซลลูโลสสำหรับประยุกต์เป็นวัสดุขัดในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย (Bright A Gems)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น และคณะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาคุณสมบัติของวัสดุคอมโพสิตจากพอลิพรอพิลีน/พอลิเอทิลีนไวนิล อะซิเตท/ไมโครเซลลูโลส เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตวัสดุที่ใช้ขัดเครื่องประดับ พบว่าสูตรที่มีปริมาณไมโครเซลลูโลส 30 phr ให้ผลขัดที่แตกต่างจากสูตรอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด คือที่พื้นผิวของชิ้นงานทองเหลือง มีความละเอียดและสว่างขึ้น คราบสกปรกต่างๆ หลุดออกได้หมด
นอกจากนี้ ยังมีประดิษฐกรรมและและนวัตกรรมไทยอีก 3 ผลงานที่ได้รับ Special Prize on stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้
1. Japan Intellectual Property Association (JIPA) ญี่ปุ่น มอบรางวัล JIPA Award for Best Invention in Green Technology ให้แก่ผลงานเรื่อง “เข็มขัดเคลือบยางพาราสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” โดย ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร และคณะ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
2. World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) ไต้หวัน มอบรางวัลให้แก่ผลงานเรื่อง “ไฮเอ็น พอลิเมอร์ก่อตัวเองได้เป็นนาโนเจลที่เป็นระบบนำส่งสารสำคัญทางยาและเครื่องสำอางและเพิ่มคุณสมบัติทางชีวภาพของไฮยาลูรอนตามธรรมชาติ” โดย รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.จิตติมา ลัคนากุล และคณะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และ 3. Hong Kong Student Invention Patent Program (HKSIP) ฮ่องกง มอบรางวัลให้แก่ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ตรวจจับการหกล้มด้วยความเร่งเพื่อผู้สูงอายุ” โดย นางสาวจิดาภา เผ่าพงษ์บุรีพันธุ์ และคณะ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี
พร้อมกันนี้ ยังมีผลงานของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยที่คว้าเหรียญรางวัลจากเวที ITEX 2023 ในประเภทต่างๆ โดยระดับนักประดิษฐ์/นักวิจัย (ITEX) มีเหรียญทอง 21 ผลงาน เหรียญเงิน 18 ผลงานเหรียญทองแดง 1 ผลงาน ส่วนระดับเยาวชน (WYIE) มีเหรียญทอง 7 ผลงาน เหรียญเงิน 8 ผลงานและเหรียญทองแดง 2 ผลงาน นอกจากนี้ ยังมี Special Prize จากประเทศต่างๆ เช่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับITEX เป็นงานการประกวดและนำเสนอผลงานของนักประดิษฐ์จากประเทศต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นมากว่า ๓๐ ครั้ง ถือเป็นหนึ่งในนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นเวทีที่นักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศให้ความสนใจในการเข้าร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักประดิษฐ์และนักวิจัย จัดโดย Malaysian Invention and Design Society (MINDS) หน่วยงานด้านการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และการออกแบบของมาเลเซีย โดยในปีนี้ได้จัดในรูปแบบออนไซต์และแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ระดับ ทั้งในระดับนักประดิษฐ์/นักวิจัย และระดับเยาวชน สำหรับงานในปี 2023 นี้ วช. ได้นำคณะนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากประเทศไทยมากกว่า 100 คน ทั้ง 2 ระดับของการแข่งขันร่วมประกวดแข่งขันและนำเสนอผลงานใน ITEX 2023