มูลนิธิทีเอชนิคร่วมกับบีเคนิกซ์ จัด BKNIX Peering Forum 2023 ขึ้น พร้อมประกาศเปิดตัวจุดให้บริการแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตแห่งที่ 6
มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือ มูลนิธิทีเอชนิค และ บริษัท บีเคนิกส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็นกลางแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย จัดเวทีประชุม BKNIX Peering Forum 2023 ขึ้น ระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพฯ สุขุมวิท เพื่อเป็นการรวมตัวแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มผู้ให้บริการทางด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและบริการด้านเนื้อหา โดยในปีนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 นอกจากนี้ ภายในงานปีนี้ BKNIX ยังได้ประกาศเปิดตัวจุดให้บริการแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตแห่งใหม่ ซึ่งเป็นแห่งที่ 6 โดยร่วมมือกับ ETIX Everywhere
ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย กล่าวว่า “ผมดีใจที่ BKNIX เราเติบโตขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ในปีนี้เราเปิดให้บริการจุดให้บริการแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า POP เป็นแห่งที่ 6 เพื่อเพิ่มความหลากหลายของพื้นที่ และเพิ่มเสถียรภาพให้กับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย”
ด้าน ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิทีเอชนิค ผู้ได้รับรางวัลทรงเกียรติด้านการเป็น ผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตฮอล์ลออฟเฟม (Internet Hall of Fame) จากองค์กรอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ (Internet Society) และรางวัลโพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด สำหรับผู้อุทิศตนทางด้านอินเทอร์เน็ต รวมถึงเป็นผู้ผลักดันให้โครงการ BKNIX เกิดขึ้น กล่าวว่า “ตั้งแต่ BKNIX ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ไม่ใช่เพียงแต่ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตภายในประเทศที่เป็นกลางจะถือกำเนิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังกำเนิดแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เรียกว่า BKNIX Peering Forum ขึ้นมาด้วย โดยแพลตฟอร์มนี้มีการเติบโตและได้รับความสนใจมากขึ้น เป็นหนึ่งในงานที่ช่วยเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ”
ทั้งนี้ภายในงาน BKNIX Peering Forum 2023 มีการปาฐกถาเรื่อง “A Close Look at Remote Peering” โดย Marinho Barcellos จาก University of Waikato ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Network Security และ Programmable Network และยังมีหัวข้อที่กำลังอยู่ในความสนใจต่าง ๆ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ
นอกจากการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับวิทยากรดังกล่าวแล้ว ในงานยังจัดให้มีจุดเจรจาหาความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะประกอบไปด้วย ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs), ผู้ให้บริการโครงข่ายจัดส่งข้อมูล (CDNs), ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (IDCs), ผู้ให้บริการวงจรสื่อสัญญาณ(Carrier), ผู้ให้บริการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล (IXPs) และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง จากทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 19 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ฮ่องกง, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ลาว, เมียนมาร์, ปากีสถาน, สิงคโปร์, ศรีลังกา, ไทย, สหรัฐอเมริกา, และเวียดนาม ซึ่งมีผู้อยู่ในธุรกิจสื่อสารและอินเทอร์เน็ตเข้าร่วมงานกว่า 330 คน
สำหรับงาน BKNIX Peering Forum 2023 ได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กร ได้แก่ Opengear, ETIX Everywhere, ISOC, AWS, STT GDC Thailand, JPNAP, APNIC, TCC Technology Group, Symphony, Netflix, Cable Connect, Telehouse, BBIX, NTT Global IP Network, ICANN, Google, .TH และ NSRC