คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน Mahidol Engineering Maker Expo 2023 เปิดเวทีแสดงพลังนวัตกรรม วิศวกรรมและเทคโนโลยีจากบรรดาเมคเกอร์นักศึกษา ว่าที่วิศวกรในอนาคต มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยที่ก้าวหน้า 4 ทีมคว้ารางวัลชนะเลิศใน 4 คลัสเตอร์ โดยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ศิษย์เก่า นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมงาน ณ อาคารมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ประธานเปิดงาน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้นำวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทยที่ได้การรับรองมาตรฐานระดับโลกจาก ABET สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า งาน Mahidol Engineering Maker Expo 2023 จัดปีละ 1 ครั้ง โดยวิศวะมหิดลรวบรวมผลงานวิจัยนวัตกรรมที่โดดเด่นจากฝีมือคนรุ่นใหม่ นักวิจัย เมคเกอร์ มาจัดแสดงในรูปบูธนิทรรศการ พบปะกับผู้มางานและผู้ประกอบการ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของงานวิจัย-พัฒนา พร้อมไปกับกำลังคนสมรรถนะสูง ไอเดียสร้างสรรค์ สร้างเสริมทักษะศตวรรษที่ 21 เรียนรู้การทำงานร่วมกันเป็นทีม การนำเสนอผลงานและประสบการณ์วิจัย ที่ตอบโจทย์สร้างประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
โดยในปีนี้ จัดแสดงผลงาน แบ่งเป็น 4 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย 1. วิศวกรรมเฮลท์แคร์ (Healthcare Engineering) 2. วิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering) 3. วิศวกรรมโลจิสติกส์และขนส่งทางราง (Logistics & Railway Engineering) 4. วิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (Sustainability & Environmental Engineering)
ภายในงาน มีจัดแข่งขันนำเสนอผลงานนวัตกรรมในรูปแบบ Pitching และรูปแบบ Poster พร้อมประกาศผลและมอบรางวัล นอกจากนี้ ยังมี Consultant Corner โดยผู้เชี่ยวชาญของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คอยให้คำปรึกษาด้านเทคนิคแก่ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจ รวมถึงการออกบูธของผู้ประกอบการธุรกิจ SME ในกลุ่ม Biz Club ในงานด้วย
ผศ.ดร.พรทิพย์ แก่งอินทร์ ประธานจัดงาน รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปีนี้มีการแข่งขันนำเสนอผลงานนวัตกรรม โดยมีคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาครัฐและการศึกษา รางวัลจากการนำเสนอผลงานในรูปแบบ Pitching แต่ละคลัสเตอร์จะมี 3 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศ 15,000 บาท รางวัลอันดับที่ 2 เงินสด 10,000 บาท และรางวัลอันดับ 3 เงินสด 5,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติยศ ส่วนชนะเลิศจากโครงงานในรูปแบบ Poster เงินรางวัล 5,000 บาท และ Overall Popular Vote เงินรางวัล 10,000 บาท
สำหรับผลงานนวัตกรรมที่คว้า รางวัลชนะเลิศ Mahidol Engineering Maker Expo 2023 ใน 4 คลัสเตอร์ มีดังนี้
ผลงาน อุปกรณ์ตรวจจับความง่วงโดยใช้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผ่านพวงมาลัยรถยนต์ (Drowsiness Detection using ECG on Steering Wheel) คว้ารางวัลชนะเลิศ ในประเภทคลัสเตอร์วิศวกรรมเฮลท์แคร์ นับเป็นสุดยอดนวัตกรรมที่จะช่วยชีวิตและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากอาการหลับใน ด้วยอุปกรณ์การตรวจจับความง่วง ที่คิดค้นและออกแบบมาในรูปแบบแผงวงจรวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากเต้นช้าแสดงถึงอาการง่วง และจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนมายังผู้ขับขี่ผ่านพวงมาลัยรถยนต์ให้มีสติก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ เป็นผลงานของทีมซึ่งประกอบด้วย ฉัตรดนัย หัชลีฬหา, นพรัตน์ หมู่สุข และสิรวิชญ์ ขวัญเนตร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวกรรมไฟฟ้า ม.มหิดล
ผลงาน การสังเคราะห์ภาพใบหน้าผู้สูญหายจากภาพวัยเด็กโดยการใช้โครงข่ายประสาทเทียมก่อกำเนิดแบบคู่ปรปักษ์ (Face Synthesis from Childhood Image Using Generative Adversarial Network) คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทคลัสเตอร์วิศวกรรมดิจิทัล ปัญหาคนหายยังมีในสังคมเสมอ นวัตกรรมนี้มาในรูปแบบแอพลิเคชั่นที่สามารถช่วยวิเคราะห์ใบหน้าเด็กที่สูญหาย ซึ่งบางรายหายจากบ้านไปตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อโตขึ้นใบหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยประมวลผลใบหน้าในอายุปัจจุบันจากภาพวัยเด็ก ผลงานของทีมไซเบอร์ประกอบด้วย กลวัชร คธาเพ็ชร,คมสัน ตันติกานต์กุล, ติณห์ ไชยเสนา และปณต เล็กเจริญ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.มหิดล
ผลงาน ไอศครีมจากพืชแบบละลายช้าเสริมโอการาจากกระบวนการผลิตนมถั่วเหลือง (Melt-Resistant Ice Cream Fortified with Okara from Soybean Milk Processing) คว้ารางวัลชนะเลิศ ในประเภทคลัสเตอร์วิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เพราะไอศกรีมเป็นเมนูโปรดของคนทุกวัย ทีมวิจัยได้แรงบันดาลใจจากการรับประทานไอศครีมแล้วรู้สึกว่าละลายเยิ้มเร็วเกินไป จึงคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยให้ไอศกรีมละลายช้า โดยการนำกากถั่วเหลืองหรือโอการามาผสมใส่ลงในไอศครีม ช่างโดนใจผู้บริโภค สร้างสรรค์โดยทีมซึ่งประกอบด้วย ชัญญกัญญ์ สกุลบริสุทธิ์สุข, ธัญวี สุภาพาส, เพชรไพลิน พวงประดับ และ ไอซ่า เฟลซ่า ซาบีน่า นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวกรรมอุตสาหการ ม.มหิดล
ผลงาน จัดเรียงสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ จากกรณีศึกษาบริษัทในอุตสาหกรรมเรือคายัค ประเทศไทย (Container Loading Optimization Using a Mathematical Model : A Case Study of Kayak Manufacturer in Thailand) คว้ารางวัลชนะเลิศ ในประเภทคลัสเตอร์วิศวกรรมโลจิสติกส์และขนส่งทางราง นับวันระบบขนส่งทางรางจะทวีความสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย นวัตกรรมนี้จะช่วยให้การจัดเรียงสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์กลายเป็นเรื่องง่าย ประหยัดเวลาและพลังงาน มีประสิทธิภาพ สุดล้ำด้วยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ คิดค้นโดยทีม 4 คน ประกอบด้วย กนกนันท์ สุวรรณรัตน์, คุณัชญ์ ปึงเศรษฐกูล, ชนากานต์ ตันกิจเจริญ และญาณิศา พิมพ์สอ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสต์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ หลักสูตรนานาชาติ ม.มหิดล