GISTDA ชวนน้องๆ ร่วมแข่งขัน “ออกแบบแนวคิดภารกิจดาวเทียมสำรวจ”

News Update

            ภายหลังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากการดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้การปฏิบัติการพัฒนาดาวเทียม หรือ Know-How Transfer and Training สำหรับการพัฒนาดาวเทียมเล็กและระบบภาคพื้นดิน ภายใต้โครงการ THEOS – 2 โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเป็นบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องกับงานทางด้านเทคโนโลยีดาวเทียมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งได้รับการฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้อย่างเต็มที่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากทีมวิศวกรดาวเทียมของ GISTDA ไปเมื่อกลางปีที่แล้วนั้น

           มาวันนี้ GISTDA ผุดกิจกรรมการแข่งขัน “การออกแบบแนวคิดภารกิจดาวเทียมสำรวจ หรือ School Satellite Competition 2023” ที่เปิดโอกาสให้น้องๆนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และมหาวิทยาลัยหรือเทียบเท่า ร่วมการแข่งขันและนำเสนอไอเดียภารกิจดาวเทียม พร้อมร่วมเรียนรู้ด้านการพัฒนาและออกแบบดาวเทียม รวมถึงลงมือปฏิบัติจริงร่วมกับเหล่าวิศวกรดาวเทียมของ GISTDA ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

           ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล โฆษกและผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศของ GISTDA เปิดเผยว่า กิจกรรมการออกแบบแนวคิดภารกิจดาวเทียมสำรวจ หรือ School Satellite Competition 2023 เป็นกิจกรรมที่ทาง GISTDA ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เล็งเห็นถึงการพัฒนาความสามารถของบุคลากรในประเทศไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับต่างประเทศ ในด้านการเตรียมความพร้อมพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

           โดยกิจกรรม School Satellite มีวัตถุประสงค์หลักในการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการพัฒนาระบบดาวเทียม ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไม่สามารถเข้าถึงได้จากระบบการศึกษาโดยทั่วไปมาสร้างการเรียนรู้ให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย โดยเฉพาะเยาวชนให้มีองค์ความรู้และทักษะในการพัฒนาดาวเทียมและกิจการอวกาศในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแนวทางของประเทศจากประเทศที่เป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีมาใช้งาน มาสู่การเป็นประเทศผู้มีความสามารถในการผลิตและส่งออกเทคโนโลยีด้วยตนเอง เป็นการสร้างรูปแบบการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์การแก้ปัญหา การขาดแคลนบุคคลากรที่มีความสามารถสูงในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาความยากจน และความ เหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลกในขณะนี้

           โฆษก GISTDA กล่าวอีกว่า School Satellite เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ การพัฒนาทักษะ และการวางแผนเพื่อวางกรอบการพัฒนาดาวเทียมอย่างเป็นระบบ รวมถึงการปลูกฝังแนวคิดการทำงานอย่างมืออาชีพให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมปลายและนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริง โดยมีทีมวิศวกรดาวเทียมจาก GISTDA เป็นพี่เลี้ยงในทุกขั้นตอน สิ่งที่น้องๆเยาวชนจะได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้คือ ร่วมสร้างแพลตฟอร์มดาวเทียมที่พัฒนาเองภายในประเทศ น้องๆทุกคนที่เข้าร่วมจะได้ลงมือออกแบบและสร้างดาวเทียมด้วยตัวเอง เมื่อจบกิจกรรมก็จะสามารถกลับไปทำซ้ำได้ที่บ้าน กลับไปโรงเรียนก็สามารถไปสอนเพื่อนๆต่อได้ เพราะเราจะเลือกใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด เพื่อให้ความรู้และการสร้างดาวเทียมเข้าถึงกับน้องๆได้จริงๆ เกิดการกระจายองค์ความรู้ไปสู่ท้องถิ่นของแต่ละคน

           ทั้งนี้ น้องๆมัธยมศึกษาตอนปลายและนักศึกษาถือเป็นกำลังหลักที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต หากกลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจในการออกแบบและพัฒนาดาวเทียมได้เองก็จะทำให้ประเทศไทยมีทีมวิศวกรที่สามารถสร้างดาวเทียมได้ใหญ่ขึ้น และนำไปสู่การสร้างเป็นนวัตกรรมอวกาศที่สำคัญเทียบเท่ากับต่างชาติ เพราะทาง GISTDA มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานการประกอบและทดสอบดาวเทียมอยู่แล้ว ในปีหน้าก็จะมีแผนจะสร้างดาวเทียม THEOS-3 และดาวเทียม cube sat เองในประเทศไทย ซึ่งน้องๆเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะมาช่วยทำในสิ่งเหล่านี้ และทุกวันนี้เทคโนโลยีอวกาศไม่ได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและไกลตัวอีกต่อไป การพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีทักษะ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ เป็นการลงทุนระยะยาวที่จะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนในหลายมิติให้กับประเทศไทยต่อไป โฆษก GISTDA กล่าว

           น้องๆเยาวชนสามารถสมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2566 สนใจดูรายละเอียดการสมัครและสมัครได้ที่ https://theos2a.com  หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม อีเมล  theos-2@gistda.or.th  โทร 062-602-6049