วช.หนุนทีมวิจัยม.ราม พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูปะการังด้วยเทคนิคการทำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เผยผลสำเร็จปะการังโตช้ามีอัตราการรอดตายกว่า 80 % และสามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้เร็วกว่าการเติบโตเองตามธรรมชาติ เชื่อเทคนิคดังกล่าวจะช่วยให้สามารถพื้นฟูพื้นที่แนวปะการังเสื่อมโทรมในพื้นที่กว้าง ๆ ได้ในต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำและไม่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญมาก
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ประกอบด้วย ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ประธานคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการ และประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (อจชล.) ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ ผู้ตรวจสอบทางวิชาการ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)ดร.ศิราวุธ กลิ่นบุหงา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และสื่อมวลชน ลงพื้นที่เกาะสีชัง จ. ชลบุรี เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของการดำเนินงานในโครงการ“การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูปะการัง : เทคนิคการทำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กการเชื่อมโคโลนีปะการัง และการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการัง” ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเล เกาะสีชัง โดยชุมชน เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โดยโครงการดังกล่าวมี “ รศ. ดร. ธรรมศักดิ์ ยีมิน ” คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และได้รับการสนับสนุนงบประมาณปี 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้กลุ่มเรื่องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อพัฒนาเทคนิคและวิธีการฟื้นฟูแนวปะการังด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ และความสำเร็จของโครงการฟื้นฟูแนวปะการังขนาดใหญ่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะวิธีการที่มี ต้นทุนดำเนินงานต่ำและสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยง่าย
รศ. ดร. ธรรมศักดิ์ ยีมิน หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความจำเป็นต่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนชายฝั่งทะเล ทั้งในด้านการทำประมง การท่องเที่ยว การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงเป็นแหล่งของสารสกัดธรรมชาติในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง แต่ขณะเดียวกันแนวปะการังก็เป็นระบบนิเวศที่มีความเปราะบางค่อนข้างสูงต่อการถูกคุกคามทั้งจากน้ำมือมนุษย์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่พบว่าทำให้แนวปะการังเกิดความเสื่อมโทรมได้มากที่สุดในปัจจุบัน ก็คือ ปัญหาปะการังฟอกขาว จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในปี 2541 และปี 2553 ที่ทำให้ประชากรปะการังตายเป็นพื้นที่ในวงกว้าง ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของแนวปะการังที่ต้องการการฟื้นฟูเป็นจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมาแนวปะการังจะมีการฟื้นตัวขึ้นมาตามธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศที่มีทรัพยากรที่เป็นฐานของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน จึงจำเป็นต้องอาศัยมนุษย์เข้าไปช่วยทำให้เกิดการฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในแผนปฏิบัติการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 20 ปี (ปี พ.ศ. 2560 – 2579) ได้กำหนดเป้าหมายในการปลูกเสริมปะการังให้ครบ 5,760,000 กิ่งในปี 2579
รศ. ดร. ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า การฟื้นฟูแนวปะการังในประเทศไทยมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทั้งวิธีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และอาศัยเพศ แต่โครงการฟื้นฟูปะการังยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในแปลงฟื้นฟูแนวปะการังต่ำกว่าปะการังตามธรรมชาติ อัตราการรอดตายและอัตราการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการังต่ำ ไม่สามารถขยายพื้นที่ปลูกในบริเวณกว้างได้ รวมถึงมีต้นทุนการดำเนินงานสูง ทำให้ทีมวิจัยพัฒนาโครงการนี้ขึ้น โดยใช้เทคนิคการทำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก (Coral Micro-Fragmentation) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้ชิ้นส่วนปะการังมีอัตราการเจริญเติบโตสูง และเมื่อนำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กที่เจริญเติบโตแล้วระดับหนึ่งมาเชื่อมต่อกัน (Coral Colony Fusion) จะทำให้ได้โคโลนีปะการังขนาดใหญ่ที่สามารถจะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้เร็วกว่าการเติบโตเองตามธรรมชาติ
ทีมวิจัยได้มีการดำเนินการศึกษาทั้งในโรงเพาะเลี้ยง และแปลงอนุบาลในแนวปะการังตามธรรมชาติ ใน 3 พื้นที่คือ ที่เกาะค้างคาวด้านทิศเหนือ เกาะขามน้อยด้านทิศใต้ และอ่าวนวล เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ปะการัง การจัดทำแปลงอนุบาลในแนวปะการัง และเป็นพื้นที่ต้นแบบในการสาธิตการฟื้นฟูแนวปะการัง
เบื้องต้นเลือกศึกษาปะการัง 4 ชนิด ซึ่งเป็นปะการังที่มีการเติบโตช้า ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites abdita) ปะการังกาแล็กซี่ (Galaxea fascicularis) และปะการัง ดาวช่องเหลี่ยม (Leptastrea purpurea) ซึ่งเป็นปะการังที่มีความเหมาะสมสำหรับการทำเป็นชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก โดยมีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่มีความเครียดสูง มีการคัดเลือกปะการังพ่อแม่พันธุ์ที่ไม่มีการตายเป็นบางส่วนของโคโลนี ไม่แสดงการฟอกขาว ไม่มีสิ่งมีชีวิตเจาะไช และไม่เป็นโรคปะการัง
ผลการศึกษาพบว่าอัตราการรอดตายของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กในโรงเพาะเลี้ยงและแปลงอนุบาลในแนวปะการังมีค่าสูงกว่า ร้อยละ 80 อัตราการเจริญเติบโตของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กสูงสุดในโรงเพาะเลี้ยง รองลงมาคือแปลงอนุบาลในแนวปะการังอ่าวนวล เกาะล้าน เกาะค้างคาวด้านทิศเหนือ และเกาะขามน้อยด้านทิศใต้ ส่วนชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเริ่มต้น 1 เซนติเมตร มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด
การตายเป็นบางส่วนของเนื้อเยื่อชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กในโรงเพาะเลี้ยงและแปลงอนุบาลในแนวปะการังมีค่าน้อยกว่าร้อยละ 5 ของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กทั้งหมด และพบการเกิดโรคของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กในโรงเพาะเลี้ยงและแปลงอนุบาลในแนวปะการังน้อย กว่าร้อยละ 5 ของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กทั้งหมด ทั้งนี้ชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กของปะการังทั้ง 4 ชนิดในโรงเพาะเลี้ยง และแปลงอนุบาลในแนวปะการัง สามารถเชื่อมกันเป็นโคโลนีขนาดใหญ่ได้ภายในระยะเวลา 9 เดือน
“เทคนิคนี้เป็นการขยายพันธุ์ปะการังแบบไม่อาศัยเพศที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญมาก เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในต่างประเทศและนำมาพัฒนาให้เข้ากับการขยายพันธุ์ปะการังของไทย ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาเทคนิคการทำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าเทคนิคดังกล่าวจะทำให้เราสามารถที่จะมีก้อนปะการังสำหรับพื้นฟูในพื้นที่ที่มีปะการังเสื่อมโทรมในพื้นที่กว้าง ๆ ได้ และสามารถที่จะผลักดันพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงผลักดันให้ก้าวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้ในอนาคต”
อย่างไรก็ดี การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศดังกล่าวแม้จะมีข้อดีคือขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและราคาถูก แต่ก็มีข้อเสียคืออาจทำให้ขาดความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในแปลงฟื้นฟู ดังนั้นทีมวิจัยจึงให้ความสำคัญกับการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการังในพื้นที่ฟื้นฟู ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการังในธรรมชาติ โดยพยายามที่จะนำพ่อแม่พันธุ์มาจากหลายแหล่งเพื่อที่จะให้มีหลากหลายตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ และมีการตรวจวิเคราะห์หาลำดับนิวคลีโอไทด์เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเปรียบเทียบ พร้อมทั้งประยุกต์วิธีการศึกษาทางพันธุศาสตร์ประชากรปะการังที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นในการดำเนินงานปีที่ 2 ต่อไป
ด้าน ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ประธานคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการ และประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (อจชล.) กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือวิธีการนำไปใช้ ที่จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันของภาครัฐ เอกชนและอยู่บนฐานของวิชาการ ที่สามารถตรวจสอบได้ และสามารถต่อยอดไปสู่การทำวิทยาศาสตร์ภาคประชาชนได้ อย่างเช่น โครงการวิจัยนี้ หากให้ภาครัฐทำงานคนเดียวจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูแนวปะการังที่มีจำนวนมากได้ จึงควรที่จะขยายความร่วมมือไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนในพื้นที่ มีการกระจายความรู้เทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงปะการังสู่ชุมชน
ทั้งนี้การมีภาควิชาการที่ถูกต้องจะช่วยให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ และเรียกว่าเป็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง เป็นการแก้ปัญหาความมั่นคงแบบองค์รวม โดยผลงานวิจัยทางวิชาการจะนำไปสู่การสร้างโครงสร้างเชิงนโยบาย และการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป