“ดีป้า” เผยแผนงานปี 2564 สานต่อการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก เดินหน้ายกระดับศักยภาพกำลังคน ขับเคลื่อนเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพ เปลี่ยนผ่านภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ชุมชน และสร้างระบบนิเวศดิจิทัล
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ปี2564 ดีป้าจะสานต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วยการยกระดับกำลังคนผ่านการให้ความรู้ด้านดิจิทัลบนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยจะได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ นักเรียนจาก 80 โรงเรียนสามารถเรียนรู้ทักษะโค้ดดิ้งบนแพลตฟอร์มใหม่ อีกทั้งเสริมทักษะดิจิทัลแก่นักเรียนอาชีวศึกษา รวมถึงความรู้ด้านข้อมูล (Data) แก่เยาวชนและนักศึกษา โดยคาดว่า กระบวนการต่างๆ จะสามารถพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัลได้มากกว่า 12,000 คน
นอกจากนี้จะส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพ ทั้งระยะเริ่มต้นและระยะเติบโต รวม 70 ราย ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 5,000 ล้านบาท ก่อนนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านชุมชน เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เอสเอ็มอี หาบเร่ แผงลอย ตลาดสด อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และภาคเกษตรกรรมด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะช่วยให้คนไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่า 70,000 คน
พร้อมกับขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) 3 ด้าน ใน 8 พื้นที่นำร่อง ซึ่งประเมินว่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนรัฐร่วมเอกชนราว 130 ล้านบาท ขณะที่ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 100,000 คน แบ่งเป็น Smart Economy โดยการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมือง (City Data Platform) ไม่น้อยกว่า 30 พื้นที่ สร้าง Smart City Ambassador ใน 30 พื้นที่ พร้อมพัฒนาการท่องเที่ยววิถีใหม่ในจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต ชลบุรี อุดรธานี และพื้นที่ส่วนกลาง Smart Mobility โดยการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และระบบการแก้ไขปัญหาการขนส่งระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง-กรุงเทพมหานคร และ Smart Living โดยการขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉินในจังหวัดขอนแก่น
ทั้งนี้ ดีป้าพร้อมบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชน โดยการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์ (AI University) รองรับเทคโนโลยีเอไอ และกระตุ้นให้เกิดวิชาชีพใหม่ผ่านการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอากาศยานไร้คนขับ (Drone University) จัดงานแสดงนิทรรศการและกิจกรรมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชื่อ Digital Station: Siam Square สร้างมาตรฐาน dSURE เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการรับรองมาตรฐานโดยสมัครใจของผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการค้นหาเทคโนโลยี (Technology Hunting Platform) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน เป็นธรรม และทั่วถึง
ดร.ณัฐ กล่าวว่า ปี 2565 ดีป้าจะดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ ทำงานเพื่ออนาคตของคนไทย และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลก โดยยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล พร้อมเร่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในภาคเศรษฐกิจจริงผ่านกลไกการขับเคลื่อนดิจิทัลสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครือข่ายผ่านแพลตฟอร์มส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ทั้งการดึงดูด Venture Capitals การสร้าง Angel Investors และกระบวนการขยายตลาดสู่ระดับสากล
อีกทั้ง จะดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้วย Accelerate Program การสร้าง Incubation Center และ Consultation Center อีกทั้งบ่มเพาะให้เกิดการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลผ่าน 5G Application Lab, Software Convergence Center, Hardware and Smart Devices Lab, AR/VR/MR Lab, IoT Innovation Center และ Cloud Innovation Center รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดต้นแบบนวัตกรรมผ่าน Maker Space
นอกจากนี้ จะเปลี่ยนผ่านร้านค้า ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และชุมชนด้วยการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลผ่านการจับคู่กับดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของประเทศ และสร้างระบบนิเวศดิจิทัลด้วยการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะทั้ง 77 จังหวัด และจะทำงานเพื่ออนาคตของคนไทย และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลกผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนและภาคประชาชน พร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม โดยหวังว่า ปี 2565 ดีป้า จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้จีดีพีของอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลไทยขยายตัวเฉลี่ย 1%