สดร. เผย “10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2564” ชี้เทรนด์ปีหน้า เน้นพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูงสู่สังคม จับตา 2 ภาคีสำคัญ ผนึกกำลังแก้ปัญหา PM2.5 และ วางแพลตฟอร์มดันไทยสู่วงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เชิญชวนประชาชนติดตาม 10 เรื่องราวดาราศาสตร์สำคัญในปี 2564 ซึ่งประกอบด้วย
1.ดวงจันทร์บังดาวอังคาร (Occultation of Mars by the Moon) โดยในช่วงหัวค่ำวันที่ 17 เมษายน 2564 เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร สังเกตได้ทางทิศตะวันตก วัตถุทั้งสองอยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 33 องศา ดาวอังคารจะเริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 20:12 น. โดยจะสังเกตเห็นดาวอังคารค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ และดาวอังคารจะโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 21:28 น. อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกประมาณ 17 องศา
2. ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้ – ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon & Micro Full Moon) ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ Super Full Moon (27 เมษายน 2564) และดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ Micro Full Moon (19 ธันวาคม 2564)
3.จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 จะเกิดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาบางส่วน” สังเกตได้ทุกภูมิภาคของประเทศ ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 14:47 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 15:45 น. และเกิดคราสมากที่สุดเวลา 17:19 น. แต่วันดังกล่าว ในประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 17:42 น. ทำให้ผู้สังเกตในไทยมีโอกาสมองเห็นจันทรุปราคาบางส่วนตั้งแต่เวลา 17:42 – 18:52 น. รวมเวลาทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 10 นาที ก่อนเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่จะสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์จากเงามืดของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 19:49 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
4. ปรากฏการณ์สำคัญเกี่ยวกับดาวเคราะห์ คือ ดาวเสาร์ใกล้โลก ในวันที่ 8 สิงหาคม 2564 โดยดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่ง ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 1,337 ล้านกิโลเมตร สังเกตได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวแพะทะเล(Capricornus) ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ปรากฏยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า มีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 0.2 (ความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6)
นอกจากนี้ยังปรากฎการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก ในวันที่ 20 สิงหาคม 2564 เวลา 07:17 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 600 ล้านกิโลเมตร ดาวพฤหัสบดีจะสว่างสุกใส สังเกตได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวแพะทะเล (Capricornus) ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ปรากฏยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า มีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ -2.9 (ความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) และปรากฎการณ์ดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งสว่างที่สุด ในวันที่ 7 ธันวาคม 2564 โดยดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดในรอบปี (The Greatest Brilliancy) สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 – 20.00 น. คาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.7 (ดวงจันทร์เต็มดวงมีความสว่างปรากฏ แมกนิจูด -12.6) หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์จะมองเห็นดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์
5. การพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์สู่สังคม : AstroFab (Astronomy Fabrication Laboratory) ซึ่งจะมีการเปิดแลปดาราศาสตร์ ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสรรค์ผลงาน ต่อยอดความคิด สู่การประดิษฐ์คิดค้นชิ้นงาน สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมืออันทันสมัยทั้ง Hardwares และ Softwares ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง พร้อมผู้เชี่ยวชาญแนะนำการใช้งาน สู่การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีต้นแบบ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เสริมสร้างศักยภาพกำลังคนของประเทศ ให้สามารถต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจได้
6.ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ (Optics and Photonics Center) สดร. จัดตั้งศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ มีห้องปฏิบัติการฯ ตั้งอยู่ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อออกแบบ พัฒนา และผลิตเครื่องมือ หรืออุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ที่ทันสมัย พัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านทัศนศาสตร์และเทคโลยีทัศนศาสตร์ศักยภาพสูงสำหรับใช้งานด้านดาราศาสตร์ เทคโนโลยีอวกาศ และการป้องกันประเทศ และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อประยุกต์สู่ภาคอุตสาหกรรม
7. จับตา 2 ภาคีความร่วมมือวิจัยบรรยากาศ/ อวกาศแห่งประเทศไทย โดยภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย (Thailand Consortium for Atmospheric Research: TCAR) ผนึกกำลัง 28 หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา จัดทำแผนที่นำทางของการวิจัยแบบบูรณาการ วิจัยบรรยากาศที่เชื่อมโยงกับการศึกษาคุณภาพอากาศของประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปัญหามลภาวะทางอากาศ เช่น PM2.5 เป็นต้น
ส่วนภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium: TSC) จับมือ 9 หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา ร่วมกันออกแบบ พัฒนาและสร้างดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ โดยทีมวิศวกรไทย ยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง นำความรู้ความสามารถของแต่ละหน่วยงานภาคีมาบูรณาการร่วมกันเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศของประเทศ ต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม พร้อมวางรากฐานให้ประเทศไทยก้าวไปสู่วงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ
8. Dark Sky in Thailand เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย สร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง รณรงค์ให้เกิดสถานที่ที่สงวนความมืดของท้องฟ้าเวลากลางคืน เชิญชวนชุมชน หน่วยงาน ผู้ประกอบการ ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย พร้อมจับมือ ททท. จัดแคมเปญท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ
9. การสำรวจสำคัญในแวดวงดาราศาสตร์โลกปี2564 เช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จะเป็นช่วงที่ยานสำรวจจากนานาชาติเดินทางถึงดาวอังคาร 3 ลำ ได้แก่ยานโฮป (Hope) รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) และยานเทียนเวิ่น 1 (Tienwen-1) ยานเหล่านี้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ยังมียานและกล้องโทรทรรศน์อวกาศลำอื่น ๆ ที่มีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี พ.ศ. 2564 ได้แก่ยานจันทรยาน 3 (Chandrayaan-3) ของอินเดีย เป็นยานลงจอด พร้อมรถสำรวจ มีภารกิจเพื่อใช้เป็นตัวทดสอบการลงจอดของยานบนดวงจันทร์ ซึ่งมีกำหนดปล่อยสู่อวกาศในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2564 ยาน Double Asteroid Redirection Test (DART) ของสหรัฐฯ เป็นยานสำรวจส่งไปยังดาวเคราะห์คู่ดีดิมอส (Didymos) เพื่อพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย และศึกษาว่าการชนของยานส่งผลต่อดาวเคราะห์น้อยอย่างไร มีกำหนดปล่อยสู่อวกาศในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2564 กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope หรือ JWST) ที่นาซาวางแผนจะใช้เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นต่อไปถัดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (HST) มีกำหนดปล่อยสู่อวกาศในเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2564 และเที่ยวบินอาร์ทีมิส 1 (Artemis 1) เป็นโครงการที่มีเป้าหมายพานักบินอวกาศกลับไปสำรวจบนดวงจันทร์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2567 มีกำหนดปล่อยสู่อวกาศ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564
อย่างไรก็ดียังมียานลำอื่น ๆ ที่อยู่ในอวกาศแล้วและมีภารกิจสำคัญในปี พ.ศ.2564 ได้แก่ยานเบปีโคลอมโบ (BepiColombo) เฉียดใกล้ดาวศุกร์และดาวพุธ โดยมีกำหนดเฉียดใกล้ดาวศุกร์ครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 และเฉียดใกล้ดาวพุธในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ส่วนยานโซลาร์ออร์บิเตอร์ (Solar Orbiter) เป็นยานสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) เพื่อศึกษาห้วงอวกาศบริเวณใกล้ดวงอาทิตย์ ลมสุริยะ และสังเกตการณ์บริเวณขั้วดวงอาทิตย์จากระยะใกล้ โดยจะโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าดาวพุธ ยานลำนี้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 และมีกำหนดการเริ่มภารกิจหลักของยานในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564
และ 10. เปิดนิทรรศการชุดใหม่ Astronomy Insight และ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ อพวช. ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ตื่นตาตื่นใจกับนิทรรศการโซนใหม่ อาทิ ห้องแห่งเอกภพ หลุมดำ กล้องรูเข็ม สุริยุปราคาในเมืองไทยในอีก 100 ปี ฯลฯ และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ อพวช. ความร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ร่วมสร้างพื้นที่เรียนรู้อาชีพสายวิทย์ และแหล่งพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สำหรับเยาวชน คาดว่าจะเปิดให้บริการต้นปี 2564