AISเปิดตัว“มาตรวัดทักษะดิจิทัล” ฉบับแรกของไทย เผยดัชนี้ชี้วัดฯ กว่า 44.04 % คนไทยยังเสี่ยงภัยไซเบอร์

Cover Story

            เมื่อ “ดิจิทัล” กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ใครๆ ก็ไม่อาจปฎิเสธถึงประโยชน์มหาศาล แต่หากนำไปใช้ในทางที่ผิดก็เป็นโทษมหันต์ ดั่งเช่น ข่าวภัยร้ายต่างๆ จากโลกไซเบอร์ที่ยังคงเกิดขึ้นและส่งผลกระทบทั้งระดับบุคคลและองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ใช้ยังขาดความรู้เท่าทัน ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้ และเสริมทักษะในการใช้ดิจิทัลที่ถูกต้องให้กับคนไทยเพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ จึงถือว่ายังเป็นเรื่องที่สำคัญ

            AIS ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการดิจิทัล ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างทักษะดิจิทัลให้กับผู้ใช้งาน ฯ โดยกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจุดประกายสังคมในเรื่องดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่เทคโนโลยีดิจิทัล เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อวิถีการใช้ชีวิต ผ่าน โครงการ  AIS อุ่นใจ CYBER ” ทั้งในด้านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายและผลกระทบจากการใช้งาน การพัฒนาโซลูชันและบริการดิจิทัลเพื่อปกป้องและส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย และการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความฉลาดและทักษะของพลเมืองดิจิทัล

                ล่าสุด AIS ได้ยกระดับภารกิจ “ AIS อุ่นใจ CYBER ”  ไปอีกขั้น ด้วยการเปิดตัว “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล  หรือThailand Cyber Wellness Index” มาตรวัดทักษะดิจิทัลฉบับแรกของไทย

               ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และนักวิชาการที่เชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยี  สุขภาพ  สื่อสารมวลชน  การศึกษา และการวัดประเมินผล  ที่ระดมความคิดในการออกแบบกรอบการศึกษา ขั้นตอนและวิธีการเก็บผลกลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา จนออกมาเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ที่เป็นไปตามมาตรฐาน แม่นยำ และถูกต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่ในการสร้างพลเมืองดิจิทัลและสังคมการใช้งานดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้น 

               นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า เมื่อ 9 ปีก่อน AIS ต้องการขับเคลื่อน องค์กรไปสู่การเป็น  “ดิจิทัลไลฟ์  เซอร์วิส โพรวายเดอร์” เพราะรู้ดีว่า  “ดิจิทัล” จะเป็นเครื่องมืออย่างเดียวที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและแข่งขันกับนานาประเทศได้  แต่แน่นอนว่า ดิจิทัลเองมีทั้งประโยชน์มหาศาล และก็มีโทษอย่างมาก ถ้าเราใช้ไม่ถูกต้อง

               “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา AIS ได้ดำเนินงานเรื่องของการใช้ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง นับจากปี 2562 ที่เปิดตัวภารกิจที่เรียกว่า “ AIS อุ่นใจ CYBER ” เพื่อสร้างการรับรู้ ตระหนักรู้  นอกจากนี้ยังมีการสร้างสินค้าและบริการที่ทำให้ผู้ใช้มีความมั่นใจเรื่องของความปลอดภัยมากขึ้น เช่น   AIS Secure Net และ Google Family link  และได้เริ่มพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ร่วมกับพาร์ทเนอร์จากสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2564   ต่อมาในปี 2565 ได้จัดอบรมหลักสูตรให้ครูกว่า 1,500 คนทั่วประเทศ  มีการเปิดสายด่วน 1185 รับแจ้งเบอร์และเอสเอ็มเอสมิจฉาชีพ และร่วมกับตำรวจไซเบอร์จับมิจฉาชีพ  รวมถึงได้มีการเปิดตัวหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์สำหรับคนไทย  เปิดแคมเปญสร้างการตระหนักรู้ “ มีความรู้ก็อยู่รอด” และในปี 2566 นี้ได้มีการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ซึ่งปัจจุบันมีผู้เรียนหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แล้วกว่า 250,000 คน”

               นายสมชัย กล่าวว่า   การใช้งานดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี  ปัจจุบันมีการประมาณการณ์ว่าในเอเชียแปซิฟิก มีผู้ใช้งานดิจิทัลประมาณ 1,200 ล้านคน และในปี 2568 จะมีสูงขึ้นถึง  1,500 ล้านคน  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าคนไทยใช้เวลาอยู่กับดิจิทัลเป็นเวลานานในแต่ละวัน   และจากการทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องทำให้ AIS เห็นถึงแนวทางในการแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาดัชนีชี้วัดที่จะบ่งบอกถึงระดับความรู้และทักษะดิจิทัลในด้านต่างๆ ที่ชัดเจนของประชาชนในแต่ละกลุ่ม อันจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเครื่องมือ และองค์ความรู้ส่งมอบให้กับคนไทยได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหาเกิดขึ้น

                “นับตั้งแต่วันที่ผมเป็นซีอีโอ ผมอยากจะทำ Digital for Thais  แต่ปัจจุบัน Digital for Thais   ไม่เพียงพอแล้ว ทุกคนสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้ จึงต้องยกระดับไปสู่  “ Cyber Wellness for Thais ” หรือการทำอย่างไรให้คนไทยรู้จักใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์  ซึ่ง AIS คนเดียวไม่สามารถที่จะทำโครงการใหญ่แบบนี้ได้เลย ต้องขอขอบคุณพาร์ทเนอร์ทุก ๆ คนที่ช่วยกันทำโครงการนี้ขึ้นมา  สิ่งที่เราทำขึ้นมาจะเป็นของคนไทยทุกคน และพร้อมที่จะส่งต่อผลงานวิจัยที่ทำขึ้นไปยังเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันนำองค์ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลให้แก่คนไทยทุกกลุ่มต่อไป”

               ด้าน  รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการทำงานต่อเนื่องจาก AIS อุ่นใจ CYBER   โดย ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล จะเป็นเครื่องยืนยันที่บ่งบอกถึงความสามารถในการใช้งานดิจิทัลของคนไทยได้อย่างถูกต้องตามพื้นฐานของการศึกษาวิจัย  ซึ่งชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัล  ที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ประกอบด้วย ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use)  ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)  ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration) ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights) ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety)  ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship) ที่มีขั้นตอนวิธีการเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน

              ทั้งนี้ทีมวิจัยสามารถพัฒนาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยออกมาได้ 3 คือ ระดับ Advanced  หรือระดับสูงจะเป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยและสร้างสรรค์รวมถึงยังรู้เท่าทันการใช้งานและภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบและที่สำคัญยังสามารถแนะนำให้คนรอบข้างเกิดทักษะในการใช้ดิจิทัลได้เป็นอย่างดี  ส่วนระดับ Basic หรือระดับพื้นฐาน  จะเป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโลกไซเบอร์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขณะที่ระดับ Improvement  หรือระดับที่ต้องพัฒนา จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอที่จะใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล มีความเสี่ยงต่อการใช้งานในโลกไซเบอร์

                “ จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบันภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัล อยู่ในระดับพื้นฐาน โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ดิจิทัล ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัลและด้านความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล  แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีถึง 44.04% ที่ยังอยู่ในระดับต้องพัฒนา โดยเฉพาะด้านเข้าใจสิทธิทางดิจิทัล ด้านการแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล และด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น  และหากวัดระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยในช่วงอายุต่าง ๆ พบว่า ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) เป็นกลุ่มอายุเดียวที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา ส่วนกลุ่มอายุอื่น ๆ จะอยู่ในระดับพื้นฐาน และกลุ่มที่มีค่าดัชนีชี้วัดสูงที่สุดคือกลุ่มอายุ 16-18 ปี  ขณะที่หากมองตามภูมิภาค  กรุงเทพ และปริมณฑล มีค่าเฉลี่ยดัชนีชี้วัดในภาพรวมสูงที่สุด โดยอยู่ในระดับพื้นฐาน รองลงมาคือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนภาคตะวันตกและภาคเหนือยังอยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา”

              นายสมชัย  กล่าวว่า  จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ทำให้เราเห็นจุดที่ต้องพัฒนาทักษะเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในอีกหลายประเด็น  โดย AIS พร้อมด้วยพันธมิตรจะยังคงเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง   ซึ่งดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยฉบับนี้ จะเป็นเสมือนหนึ่งเข็มทิศที่ช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองเห็นเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

              ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย เพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/storage/update/report/advanc-ebook-thailand-cyber-wellness-th.pdf หรือองค์กรใดสนใจนำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index เพื่อใช้วัดผลและขับเคลื่อนองค์กร สามารถติดต่อได้ที่ aissustainability@ais.co.th