นักวิทย์ซินโครตรอน ร่วมกับนักวิจัยจากมทส.และ มจธ. ไขประสิทธิภาพสารสกัดจากเมล็ดมะไฟจีน ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากวิสาหกิจชุมชน จ.น่าน พบช่วยสร้างสมดุลของจุลินทรีย์บนผิวหนัง และลดการอักเสบของผิวหนังได้ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เจลอาบน้ำและเจลล้างหน้าสูตรสกิน โซลูชั่น ซีรีส์ของ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมคว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวาปีล่าสุด
นครราชสีมา – ดร.กาญจนา ธรรมนู หัวหน้าส่วนวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ทีมวิจัยของสถาบันฯ ร่วมกับ ศ.ภก.ดร.เกรียงศักดิ์ เอื้อมเก็บ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้รับโจทย์จากบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) ในการทดสอบสารสกัดจากมะไฟจีนและพอลิแซ็กคาไรด์ (คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน) กับเชื้อแบคทีเรีย 3 ชนิด คือ เอส อิพิเดอมิดิส (S. epidermidis) เอส ออเรียส (S. aureus) และพี แอคเน่ (P. acne) โดยใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนในย่านอินฟราเรด ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสารชีวโมเลกุลของเชื้อสามชนิด ในสภาวะที่มีการเติมสารสกัดของเมล็ดมะไฟจีน และพอลิแซ็กคาไรด์
“เมื่อเติมสารสกัดของเมล็ดมะไฟจีน และพอลิแซ็กคาไรด์ จนพบสภาวะสมดุลของจุลินทรีย์ที่ดีที่สุด พบว่าสารดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลจุลินทรีย์ ที่สามารถช่วยลดการอักเสบของผิวหนังได้ จากผลการทดสอบดังกล่าวบริษัทไลอ้อนประเทศไทยจึงได้นำสารสกัดเมล็ดมะไฟจีน ไปใส่เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เจลอาบน้ำและเจลล้างหน้าโชกุบุสซึ สกิน โซลูชั่น ซีรีส์ ซึ่งเป็นเจลอาบน้ำและเจลล้างหน้า 3 สูตรสำหรับผู้มีปัญหาผิว ได้แก่ สูตรสำหรับผู้มีปัญหาสิวหรือจุดด่างดำจากสิว สูตรสำหรับผู้มีปัญหาผิวแห้งกร้าน หมองคล้ำ และสูตรสำหรับผู้มีปัญหาผิวไม่กระชับเรียบเนียน ผลการศึกษานี้ยังเป็นปัจจัยให้ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา ครั้งที่ 48 ณ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา” ดร.กาญจนา ธรรมนู กล่าว
ด้าน นายชูชีพ อภิรักษ์ ผู้จัดการส่วนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทมีโครงการพัฒนาชุมชนในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยพบว่าวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะไฟจีนบ้านกอก มีผลิตภัณฑ์ของฝากที่แปรรูปจากมะไฟจีน เช่น มะไฟจีนอบแห้ง แยมมะไฟจีน เครื่องดื่มน้ำมะไฟจีน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เนื่องจากพื้นที่จังหวัดอื่นไม่สามารถปลูกมะไฟจีนให้ติดผลได้ ผลจากการแปรรูปทำให้เกิดเมล็ดเหลือทิ้งจำนวนมาก จากทิศทางของบริษัทฯ ที่ท่านประธานให้ไว้ คือ “เราต้องช่วยกันสร้างวัฏจักรของการเจริญไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” ทางบริษัทฯ จึงได้หาแนวทางพัฒนาของเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนตามแนวทางโมเดล BCG
“จากการศึกษาวิจัยวิธีการสกัดสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่จากเมล็ดมะไฟจีน ร่วมกับห้องปฏิบัติการกลุ่มวิจัยเกษตรแปรรูปและอาหารเชิงหน้าที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พบว่า สารสกัดจากมะไฟจีนมีศักยภาพที่จะนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ โดยมีการทดสอบกับเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก เช่น Streptococcus group A ดังนั้นบริษัทฯ จึงมีแนวคิดต่อยอดนำสารสกัดนั้นไปใช้ในเครื่องสำอางเชิงพาณิชย์ แต่เนื่องจากสารสกัดเมล็ดมะไฟจีนยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน อย. จึงต้องมีการศึกษาเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพก่อน ซึ่งด้านความปลอดภัยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำให้ทางบริษัทฯ สามารถนำสารสกัดจากเมล็ดมะไฟจีนขึ้นทะเบียนแล้วที่สหรัฐฯ และเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการขึ้นทะเบียนสารสกัดเมล็ดมะไฟจีน ซึ่งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้มีส่วนร่วมจากการศึกษาในส่วนของประสิทธิภาพของสารสกัดเมล็ดมะไฟจีนในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์” นายชูชีพ อภิรักษ์ กล่าว