ผนึกกำลังไทย-จีนพัฒนาวัสดุแบตเตอรี่ด้วยซินโครตรอน

News Update

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงเซินเจิ้น (SIAT) แห่งสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) จัดสัมมนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมไทย-จีน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ และแนวคิดการวิจัยในการพัฒนาวัสดุสำหรับผลิตแบตเตอรี่โดยใช้เทคนิคแสงซินโครตรอน รวมถึงต่อยอดสู่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และการแก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่

กรุงเทพมหานคร – ดร.พินิจ กิจขุนทด หัวหน้าฝ่ายวิจัยและประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงเซินเจิ้น แห่งสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน จัดงานสัมมนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมไทย-จีน Synchrotron Utilization Seminar on Thai-Chinese Battery and Energy Materials Research Collaboration ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ และแนวคิดการวิจัยในการพัฒนาวัสดุสำหรับผลิตแบตเตอรี่โดยใช้เทคนิคแสงซินโครตรอน รวมถึงต่อยอดสู่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และการแก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน”

“การจัดประชุมครั้งนี้เนื่องจากสถาบันฯ มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นด้านการวิเคราะห์วัสดุหน้าที่พิเศษสำหรับใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ รวมถึงมีการต่อยอดองค์ความรู้สู่ภาคอุตสาหกรรม ส่วนสถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงเซินเจิ้นนั้นเป็นผู้นำด้านการวิจัยแบตเตอรี่ของประเทศจีน จึงเกิดความร่วมมือในการใช้เทคนิคจากแสงซินโครตรอน เช่น เทคนิคเอกซเรย์โทโมกราฟี (XTM) เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (XAS) และเทคนิคโฟโตอิมิชชัน (XPS) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทางเคมี รวมถึงโครงสร้างในระดับอะตอมของวัสดุแบตเตอรี่ที่ได้จากการร่วมสังเคราะห์จากหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยพันธมิตร SIAT-CAT อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของสถาบันฯ ยังมีโอกาสพัฒนาทักษะและแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำวิจัยกับองค์รวิจัยชั้นนำของจีนด้วย”

 นอกจากนี้จะมีการนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการวิจัยร่วมนี้ไปต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ทั้งในการด้านการวิจัยวัสดุสำหรับใช้เป็นขั้วแบตเตอรี่ชนิดใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ของภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาและผลิตขั้วแบตเตอรี่ชนิดใหม่ๆ รวมถึงการร่วมวิจัยวิเคราะห์ทดสอบระบบวัสดุแบตเตอรี่ใหม่ๆ โดยการใช้เครื่องมือขั้นสูงต่างๆ เป็นต้น