กสทช.เล็งคลอดหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 3500 MHz รองรับบอร์ดใหม่เห็นชอบ คาดเห็นแผนชัดเจนปลายปี2564
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงแผนการประมูลคลื่น 5G ในปี 2564 ว่า ได้เตรียมนำคลื่น 3500 MHz จำนวน 300 MHz มาประมูล โดยจะดำเนินการหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น คลื่นที่ต้องกันมาทำการ์ดแบนด์ เพื่อไม่ให้สัญญาณรบกวน ต้องใช้เท่าไหร่ รวมถึงการศึกษาเรื่องเงินเยียวยาคลื่นให้กับผู้ใช้จานดำกว่า 10 ล้านราย คาดว่าจะศึกษาในช่วงไตรมาส 2 หรือ 3/2564 โดยถือเป็นการเตรียมความพร้อมข้อมูลให้กสทช.ชุดใหม่ตัดสินใจได้ทันที คาดจะสามารถออกหลักเกณฑ์การประมูลภายในปลายปี 2564 รวมถึงคลื่นอื่นที่คาดว่าจะต้องเตรียมนำมาประมูลอีก ได้แก่ คลื่น 1800 MHz เหลืออยู่ 35 MHz และ คลื่น 28 GHz จำนวน 2 GHz รวมถึงต้องมีการจัดทำมาตรฐานการให้บริการ 5G ด้วย
ในส่วนของการผลักดันให้เกิดยูสเคส 5G ใหม่ๆ ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ได้เริ่มทำไปแล้วกับภาคการเกษตร สาธารณสุข และการท่องเที่ยว โดยในปี 2564 จะมีการเพิ่มเติมในกลุ่ม การศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรสถาบันการศึกษา กลุ่ม คมนาคม ขนส่ง เช่น การทำสถานีบางซื่อให้เป็นสถานี 5G และกลุ่มการบริหารทรัพยากรน้ำ ซึ่งทำร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระภายใต้งบประมาณ 20 ล้าน ใช้เวลา 6 เดือน เพื่อติดเซ็นเซอร์ ตามแปลงเกษตรกรเพื่อควบคุม การปล่อยน้ำให้เกษตรกร ให้มีน้ำเพียงพอเหมาะสมกับการทำการเกษตรตามฤดูกาล รวมถึงป้องกันการลักลอบปล่อยน้ำ เป็นต้น ซึ่งกสทช.จะดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) คาดว่าจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ในเดือน ม.ค.2564
ทั้งนี้ การสนับสนุนการใช้ 5G เป็น 1 ใน 4 แนวทางการดำเนินด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งกสทช.ต้องมีแผนดำเนินงานอีก 3 ด้าน คือ 1.การส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ต้องหาแนวทางส่งเสริมให้เกิดการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ได้แก่ การจัดระเบียบสายสื่อสารแบ่งออกเป็นการจัดระเบียบสายสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่สามารถลงดินได้ จำนวน 600 กม. และการจัดระเบียบสายลงดินจำนวน 200 กม.รวมถึงต้องเร่งหาข้อสรุปเรื่องค่าเช่าท่อร้อยสายระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด รวมถึงขยายความเร็วอินเทอร์เน็ตโครงการยูโซ่เน็ตจากเดิมที่ 30/10 Mbps และเร่งเปิดประมูลโครงการยูโซ่เน็ตในพื้นที่ที่ ทีโอที ทำไม่เสร็จด้วย
2.การยกระดับการกำกับดูแลยุคใหม่ ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการหลอมรวมกัน การออกกฎ หรือ การกำกับผู้ได้รับใบอนุญาตให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงมีการขยายความร่วมมือความปลอดภัยด้านข้อมูลในบริการโทรคมนาคม ต่อยอดจากที่ได้ตั้ง TCC-CERT เพื่อเฝ้าระวังภัยคุกคามด้านโทรคมนาคม ซึ่งจะมีการจับมือเพิ่มเติมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ที่เกิดในวงการการเงินกับวงการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกันด้วย ตลอดจนการยกระดับการให้บริการโทรคมนาคมให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยผ่านโมบายล์ ไอดี และการยืนยันตัวตน e-KYC
3. การทรานฟอร์มเมชันองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัล โดยสำนักงานกสทช.จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ในการกำกับดูแลและการวิจัยมากขึ้น ด้วยการประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล เพื้อพัฒนาฐานข้อมูลโทรคมนาคม เพื่อให้มีการรายงานแบบอินเตอร์แอคทีฟมากขึ้น รวมถึงการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้งานให้เป็นประโยชน์ในการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานวิจัยทั้งภายใน และ นอกประเทศ เพื่อลดการใช้งานเอกสารกระดาษ เป็นต้น