สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดาวศุกร์สว่างที่สุด” ช่วงหัวค่ำ วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ปรากฏสว่างเด่น เหนือขึ้นไปมีดาวเรกูลัส (ซ้าย) เคียงข้างดาวอังคาร (ขวา) สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. ถึงเวลาประมาณ 21:09 น. ในพื้นที่ที่ไร้ฝนสามารถชมความสวยงามได้อย่างชัดเจน
ดาวศุกร์สว่างที่สุด เป็นช่วงที่ดาวศุกร์โคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม และมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ สำหรับในช่วงอื่น แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลกมาก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย และเนื่องจากดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก คนบนโลกจึงมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวอยู่เสมอ ไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ เพราะจะปรากฏสว่างเต็มดวงเมื่ออยู่หลังดวงอาทิตย์เท่านั้น
สำหรับความหนาบางของเสี้ยวจะแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งของวงโคจร และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด 47.8 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือในช่วงเวลาดึก หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในช่วงเช้ามืด วันที่ 18 กันยายน 2566 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างเด่นทางทิศตะวันออก เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า ตั้งแต่เวลา 03:25 น. จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า