สดร.เผยภาพ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ ใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี” หัวค่ำวันที่ 21 ธันวาคม 2563 มองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า เห็นชัดพร้อมกันทั้งสองดวงและดวงจันทร์บริวารติดตามชมได้จนถึงวันที่ 23 ธันวาคม
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ ใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี” ปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หัวค่ำวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่อาทิตย์ตกถึงประมาณ 19:30 น. มองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า เห็นชัดพร้อมกันทั้งสองดวงและดวงจันทร์บริวาร เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก หลังจากนี้ยังติดตามชมได้จนถึงวันที่ 23 ธันวาคม ก่อนจะห่างออกจากกันเรื่อยๆ และจะกลับมาปรากฏใกล้กันเช่นนี้ในอีก 60 ปีข้างหน้า
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ภาพปรากฏการณ์ดังกล่าว เริ่มบันทึกภาพตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม เป็นต้นมา เห็นได้ชัดเจนว่า ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ปรากฏเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในภาพยังสังเกตเห็นดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ทั้งสองอีกด้วย ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ที่ปรากฏ ได้แก่ ไททัน รีอา ทีทีส และไดโอนี
สำหรับบรรยากาศการติดตามชมปรากฏการณ์สำคัญในครั้งนี้ ชาวไทยสนใจติดตามกันอย่างคึกคัก สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ ใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี” 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิริินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ภูมิภาค นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่าง ๆ เปิดให้ประชาชนได้ส่องดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ สามารถมองเห็นพร้อมกันในคราวเดียวพร้อมดวงจันทร์บริวาร มีประชาชนในสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ทั้งนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 19-23 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. พร้อมเข้มงวดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในบริเวณงาน สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ส่วนเครือข่ายร่วมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์กว่า 510 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ชนิดดอปโซเนียนจาก สดร. ในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ นำกล้องโทรทรรศน์มาจัดกิจกรรม และเชิญชวนนักเรียนและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงร่วมส่องดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์กันอย่างคึกคัก ในช่วงที่ผ่านมา สร้างความตื่นตัวให้ประชาชนและเยาวชนไทยกันมาสนใจวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ผ่านปรากฏการณ์และกิจกรรมครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
ปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” จะเกิดขึ้นในทุก 20 ปี แต่ครั้งนี้นับว่าเข้าใกล้ที่สุดในรอบกว่า 397 ปี หากพลาดโอกาสชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ ต้องรออีก 60 ปีข้างหน้า ดาวเคราะห์ทั้งสองจึงจะเข้ามาใกล้กันในระยะห่าง 0.1 องศาแบบนี้อีกครั้ง นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย