TCELS จัดงานระดมสมอง “ปลดล็อคการเติบโตของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย” มุ่งให้ทุนผู้ประกอบการเน้นต่อยอดขายได้จริง พร้อมผลักดันเข้าตลาดหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ด้าน “นายแพทย์ สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ” แนะผู้ประกอบการผลิตสมุนไพรคุณภาพ เผย 1ตุลาคมนี้ บัตรทองเปลี่ยนวิธีเบิกจ่ายยาสมุนไพรใหม่จากเหมาจ่าย เป็นจ่ายตามบัญชียาหลัก หวังกระตุ้นหน่วยบริการจ่ายยาสมุนไพรไทยมากขึ้น
วันนี้ (17 กรกฎาคม 2566) ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS จัดงาน “TCELS Business Forum 2023 Keep an Eye on the Future : Unlocking the Capability of Thai Herbal Business ปลดล็อคการเติบโตของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย” โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)
สำหรับตลาดสมุนไพรไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี2565 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศมีมูลค่าสูงถึง 52,104 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน โดยอ้างอิงจากรายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2566 โดยประเทศไทยมีสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิดที่ปรากฏสรรพคุณและมีการนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งสมุนไพรไทยนอกจากความต้องการภายในประเทศแล้วยังเป็นที่ต้องในตลาดต่างประเทศด้วยความหลากหลายทางชีวภาพทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำส่งออกในภูมิภาค อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีข้อจำกัดด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยาจากธรรมชาติ อุตสาหกรรมแปรรูปสมุนไพร และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอาหาร เป็นต้น
“ว่าที่ร้อยเอก ภก.ดร.วฤษฏิ์ อินทร์มา” ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS กล่าวว่า TCELS มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพด้านสมุนไพร ซึ่งจากข้อจำกัดด้านการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว TCELS จึงร่วมมือทุกภาคส่วนจัดงานนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ และเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมนี้อย่างยั่งยืน
“ ปัจจุบัน TCELS มุ่งเน้นเกี่ยวกับอาหารที่เป็นยา และสารสกัดจากสมุนไพร ซึ่งบอร์ดหรือคณะกรรมการบริหารของ TCELS ให้นโยบายว่า จะต้องเป็นเรื่องของการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำ commercialization คือสามารถนำไปขายให้ได้ ซึ่งการนำเข้าไปในตลาดภาครัฐได้ก่อน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับธุรกิจ ก่อนที่จะขยายไปยังตลาดอื่น ๆ ดังนั้น TCELS จึงพยายามจัดการให้ทุนเรื่องการ commercialization เป็นหลัก เราจะไม่ลงทุนในเรื่องของการผลิตสารสกัดใหม่ เพราะต้องใช้เวลานานในการวิจัยและพัฒนา แต่จะเน้นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีความพร้อมสูงซึ่งต้องผ่านกระบวนการทดลองมาแล้ว ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา TCELS ได้ให้ทุนสนับสนุนไปแล้วประมาณ 10 ราย คิดเป็นเงินสนับสนุนประมาณ 50 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการนำเข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยช่วยอำนวยความสะดวกในการเตรียมเอกสารและให้ทุนเพื่อเข้าสู่ตลาดให้ได้”
ด้าน “นายแพทย์ สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ” คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอดีตประธานกรรมการ TCELS ซึ่งร่วมกิจกรรม Lunch Talk “จะปลดล็อคการเติบโตของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ไทยได้อย่างไร” กรณีศึกษา การพัฒนาสมุนไพร อุปกรณ์การแพทย์ เข้าสู่ตลาดภาครัฐ เปิดเผยว่า หากดูตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสมุนไพรไทยที่มีหลายหมื่นล้านบาทต่อปี พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ส่วนที่เป็นยาจะลดน้อยลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นยาที่ใช้ในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ ที่ใช้ในภาครัฐยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะว่าระบบบริการสุขภาพส่งใหญ่เติบโตขึ้นมาโดยการแพทย์แผนปัจจุบัน เภสัชกรและบุคลากรต่างๆ จะคุ้นชินกับยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพรจึงไม่ค่อยมีการใช้ในระบบบริการสุขภาพมากนัก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการใช้ โดยร้านขายยา หรือประชาชนซื้อรับประทานเองมากกว่า
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2567 มีการวางแผนงบประมาณด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไว้ที่ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบในส่วนของสมุนไพรจริงๆ ประมาณ 500 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการนวด อบประคบต่าง ๆ และในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง จะเปลี่ยนมาใช้วิธีการเบิกจ่ายยาสมุนไพรแบบใหม่ โดยใช้วิธีจ่ายตามรายการบัญชียาหลัก 97 ตัว แทนการเหมาจ่ายเดิม เพื่อกระตุ้นให้หน่วยบริการใช้ยาสมุนไพรไทยมากขึ้น ซึ่งจะมีการตั้งราคายาสมุนไพรให้มีกำไรสูงกว่ายาแผนปัจจุบัน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้สถานบริการรวมถึงร้านขายยาตามสิทธิบัตรทองจ่ายยาสมุนไพรมากขึ้น
สำหรับข้อแนะนำผู้ประกอบการสมุนไพรไทยที่ต้องการจะเข้าสู่ตลาดภาครัฐและระบบประกันสุขภาพ นายแพทย์ สุวิทย์ กล่าวว่า 1. ต้องทำให้ได้มาตรฐาน คุณภาพดี ปลอดภัย ซึ่งก็หนีไม่พ้นการขึ้นทะเบียน อย. ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เรามีในขณะนี้ และ 2. ต้องพร้อมที่จะแข่งในตลาดภาครัฐ ซึ่งมีผู้แข่งขันจำนวนมาก รวมทั้งหน่วยบริการ โรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบล ที่มีนโยบายส่งเสริมการปลูกและผลิตสารสกัดสมุนไพรใช้เอง แต่หากผู้ประกอบการสามารถผลิตยาสมุนไพรที่ได้คุณภาพ ราคาไม่แพง หน่วยงานเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องมาลงทุนปลูกเอง
“ สมุนไพร ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่จดสิทธิบัตรได้ เพราะสิ่งที่ได้จากสมุนไพรเป็นการค้นพบ ไม่ได้เป็นสิ่งที่คนผลิตขึ้นมา ยกเว้นว่ามีการสกัดสารและผสมเป็นสูตรใหม่ ซึ่งมีผลการวิจัยและผ่านกระบวนพิสูจน์ต่าง ๆ จนกระทั่งสามารถจดสิทธิบัตรได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในไทย เนื่องจากต้องลงทุนในการวิจัยและพัฒนาจำนวนมาก”
ขณะที่ “ดร.พัชราภรณ์ วงษา” ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง TCELS เปิดเผยถึงแนวทางสนับสนุนทุนด้านสมุนไพรจาก TCELS ว่า ในปีงบประมาณ 2567 จะมุ่งเน้นสนับสนุนกลุ่มที่เรียกว่า “รีเสิร์ช ยูทิไลท์เซชั่น” คือ เน้นผลิตภัณฑ์ที่เข้าตลาดแล้ว โดย TCELS ต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการในการขยายตลาด ซึ่งโฟกัสไปที่ 2 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือ กลุ่มนวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนใหม่ เพิ่งเข้าตลาด โดยเป็นทุนในการทดลองตลาด เก็บข้อมูลเพื่อวางแผน กลยุทธ์การทำตลาดในการวางจำหน่ายจริง และมีการขยายผลทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้น สามารถขยายตลาดในวงกว้างได้ ส่วนกลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่มีผลิตภัณฑ์เข้าตลาดแล้ว แต่อยากจะยกกระดับผลิตภัณฑ์ให้เป็นพรีเมี่ยมมากขึ้น หรือต้องการขยายกำลังการผลิต
ทั้งนี้ทุนสนับสนุนจะเป็นทุนให้เปล่า ที่ให้กับผู้ประกอบการโดยตรง ในลักษณะของการแมชชิ่ง ซึ่งขึ้นกับขนาดของกิจการ ถ้าเป็นเอสเอ็มอีที่มีรายได้แล้ว จะแมชชิ่ง 50 % ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 ตั้งเป้าให้การสนับสนุนผู้ประกอบการประมาณ 10 ราย
“ ปัจจุบันไทยยังมีโรงงานที่มีศักยภาพในการสกัดสาระสำคัญจากสมุนไพร ประมาณ 10 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นแบบสกัดเพื่อใช้เอง ซึ่งถือว่ามีปริมาณที่น้อยมาก ไม่ถึง 10 % ทำให้อีกกว่า 90 % เป็นการนำเข้าสารสกัดสมุนไพรจากต่างประเทศ ในอนาคตจากแผนปฏิบัติการ และการทำเชิงกลยุทฺธ์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข รวมถึง อย. TCELS ซึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนเล็ก ๆ ในการให้ทุนผู้ประกอบการบางส่วน คาดหวังว่าการผลิตสารสกัดสมุนไพรของประเทศไทยจะมีการเติบโตที่สูงขึ้น ช่วยลดการนำเข้าสารสกัดที่มีมูลค่ามหาศาล และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหรือ Hub ของสารสกัดสมุนไพร เพราะเรามีวัตถุดิบสมุนไพรจำนวนมาก หากสามารถผลิตสารสกัดได้จำนวนมาก ในราคาที่แข่งขันได้กับการนำเข้า จะทำให้เกิดเป็นซัพพลายเชนที่สำคัญ ซึ่งจะส่งต่อให้กับโรงงานต่าง ๆ รวมถึงที่ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีจำนวนมาก”
นอกจากนี้ภายในงาน ได้มีการเสวนา เรื่อง ศักยภาพและโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย” โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ดร.กิตติพงศ์ เจียมวิทยานุกูล ผู้จัดการอาวุโส งานยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน TCELS ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) และ คุณนาตยา สีทับทิม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมถึงยังมีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ นักวิจัย นักลงทุนแลกเปลี่ยนมุมมอง เจรจาความร่วมมือ พร้อมทั้งนำเสนอ 8 กิจการด้านสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพสูง ภายใต้เครือข่ายของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์อีกด้วย