เปิดตัว “ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง” ผู้อำนวยการคนใหม่ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญทางด้านการส่งเสริมและการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง อดีตรองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรมของNIA เข้ารับตำแหน่งใหม่เป็น ผอ.NIA เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา และล่าสุดได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อมวลชนถึงบทบาทใหม่ของ NIA ในระยะเวลา 4 ปีหลังจากนี้ ( พ.ศ.2566 – 2570 ) ซึ่ง NIA จะมีการปรับบทบาทจากการเป็น “สะพานเชื่อม” หรือ “ System Integrator” มาสู่การเป็น “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” หรือ “Focal Conductor”
เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศให้สอดรับกับบริบทโลก และยังคงมีเป้าหมายชี้วัดที่สำคัญ คือการเร่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ 1 ใน 30 ของประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมโลกภายในปี 2573 จากปี 2565 ที่ไทยอยู่ในอันดับ 43 ของโลก
ดร. กริชผกา กล่าวว่า ที่ผ่านมา NIA ทำหน้าที่หลายอย่างมาก โดยเฉพาะการมีบทบาทในการเป็น System Integrator ที่เชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกให้เกิด Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ แต่ด้วยบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเป็น System Integrator ยังไม่เพียงพอ ถ้าจะนำประเทศไทยไปสู่ 1 ใน 30 ของประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมโลกภายในปี 2573 NIA จะต้องทำหน้าที่เป็น “ Focal Conductor ” ด้วย ในการกำหนดทิศทางในการพูดคุยหารือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน เพื่อทำให้การพัฒนานวัตกรรมของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“กลยุทธ์ของบทบาทใหม่นี้ จะอยู่ภายใต้แนวคิด “ Create the Dot – Connect the Dot – Value Creation” ที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรายใหม่ การเชื่อมโยงกับภาคเอกชน และทำให้เกิดการสร้างมูลค่า โดยอาศัย 3 กลไกหลักเดิมของสำนักงาน คือ Groom Grant และ Growth ซึ่งทำให้เกิดแนวทาง 2 ลดและ 3 เพิ่ม โดย 2 ลด คือ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้ Open Innovation หรือนวัตกรรมแบบเปิด ที่เปิดโอกาสและเปิดรับแนวคิดใหม่จากสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีจากทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเติมเต็มจุดอ่อนหรือปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจให้มากขึ้น และ ลดอุปสรรคการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมให้กับทุกภาคส่วนรวมถึงแก้ไขกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต ส่วน 3 เพิ่ม ก็คือ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ให้มีโอกาสขยายตลาด และสร้างแบรนด์นวัตกรรมสัญชาติไทยที่พร้อมแข่งขันกับนวัตกรรมจากต่างประเทศ”
ทั้งนี้บทบาทใหม่ในการเป็น “ Focal Conductor ” จะมีการดำเนินการภายใต้ 7 กลยุทธ์หลักคือ 1. สร้างและยกระดับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBEs) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาและขยายผลโครงการสำคัญใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อาหารและเกษตร ท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ พลังงานและเทคโนโลยีรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และซอฟต์ พาวเวอร์ โดยมีเป้าหมายใน 4 ปี คือ จำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม 8,000 ราย บุคลากรและกำลังคนด้านนวัตกรรม 15,000 ราย และมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเป้าหมายและพื้นที่ 20,000 ล้านบาท
2.ส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดและทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเปิดกว้างมากขึ้น โดยเน้นการให้ทุนที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนอื่นๆ มีการให้ทุนรายสาขาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับภูมิภาค การเสริมสร้างสมรรถนะการขอทุนและการจัดทำข้อเสนอโครงการร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนและเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป้าหมายใน 4 ปี คือ เงินทุนและกองทุนสนับสนุนนวัตกรรมที่ NIA บริหารจัดการ 2,000 ล้านบาท โครงการและธุรกิจนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุน 1,500 โครงการ มูลค่าการลงทุนที่เกิดขึ้นในธุรกิจนวัตกรรม 2,000 ล้านบาท ความคุ้มค่าและผลกระทบของเงินทุนสนับสนุนนวัตกรรม 5 เท่า และสร้างกลไกสนับสนุนรูปแบบใหม่ 3 กลไก
3. ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค การพัฒนาย่านนวัตกรรม เมืองนวัตกรรม และระเบียงนวัตกรรมในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายใน 4 ปี คือ IBEs เข้ามามีส่วนร่วมกว่า 3,000 ราย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมใน 40 มหาวิทยาลัย และ 16 อุทยานฯ เกิดการลงทุนนวัตกรรมในภูมิภาค 20,000 ล้านบาท อันดับดัชนีนวัตกรรมเมืองปรับขึ้น 5 อันดับ จังหวัดศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรม 12 จังหวัด ย่านนวัตกรรม 12 ย่าน และสำนักงานภูมิภาค 3 แห่ง
4.เป็นศูนย์กลางการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม ที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย NIA ต้องการยกระดับบทบาทของสำนักงานฯ ให้เป็นระดับชาติมากขึ้น โดยเชื่อมโยงภารกิจหลักด้านนวัตกรรมของหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว.กับพันธมิตรนอกกระทรวง โดยมีเป้าหมายใน 4 ปี คือ เครือข่ายข้อมูลนวัตกรรมที่เชื่อมโยงสู่ระบบ 15 เครือข่าย จำนวนผู้ใช้บริการ 50,000 ราย ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ข้อ และนวัตกรรมเชิงนโยบาย/ภาครัฐ 30 นวัตกรรม
5. ส่งเสริมการตลาดนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในลักษณะของ Business Brotherhood ให้บริษัทขนาดใหญ่มาสนับสนุนการขยายธุรกิจของ IBEs โดยมีเป้าหมายใน 4 ปี คือ จำนวน IBEs ที่เข้าร่วมโครงการ 1,000 ราย และมูลค่าเติบโตจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท
6. สร้างความตระหนักและการรับรู้ความสำคัญของนวัตกรรมในทุกภาคส่วน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น Innovation Thailand การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรม งาน SITE เพื่อสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไทย ซึ่งนอกเหนือจากแคมเปญการทำให้ประเทศไทยเป็นชาตินวัตกรรมแล้วยังต้องการให้นวัตกรรมอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน ซึ่งเป้าหมายใน 4 ปี คือ จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง online และ onsite ไม่น้อยกว่า 50,000 ราย จำนวนผู้เข้าชม Content Online ไม่น้อยกว่า 2,000,000 ครั้ง
และ 7 .พัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นทำงานแบบ Cross Functional ลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อน สนับสนุนการปรับหมุนเวียนงาน (Job Rotation) ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการใช้ Project-based Management และกำหนดเป้าหมายเพื่อวัดผลสำเร็จ (OKR) ที่ชัดเจนและสอดคล้องกันทั้งองค์กร การบริหารงานบุคลากรที่เป็นระบบ โปร่งใส และเป็นธรรม เน้นการทำงานเป็นทีมเพื่อมุ่งสู่พันธกิจขององค์กร พร้อมทั้งน้อมนำแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงและหลัก ESG มาใช้ในการดำเนินงาน
“ภายในระยะ 1 ปี NIA ได้ตั้งเป้าหมายสร้างความก้าวหน้าทางนวัตกรรมไทยทั้งในเชิงมูลค่าและเชิงภาพลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นให้สำเร็จ การสร้างพื้นที่สนับสนุนสตาร์ทอัพโดยมีโมเดล Station F ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีการรวมตัวของสตาร์ทอัพและนักลงทุน ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก บริษัทที่ปรึกษาการทำธุรกิจ สำนักงานของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก โปรแกรมการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ยังจะสร้างเครือข่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวง อว. การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง เช่น นโยบายด้านการเงินและภาษีที่สนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม IP Tax Redeem หรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขยายสิทธิประโยชน์ในย่านนวัตกรรมร่วมกับ BOI การเชื่อมโยงฐานข้อมูลนวัตกรรมและสร้างแพลตฟอร์มสำหรับ Innovation Thailand เป็นต้น”
สำหรับภาพรวมนวัตกรรมไทย ดร. กริชผกา กล่าวว่า หากดูจากตัวชี้วัดคือดัชนีนวัตกรรมโลก GII ของ WIPO ที่ไทยได้อันดับที่ 43 ในปี 2565 แต่การประกาศของ IMD ที่ผ่านมา ประเทศไทยดีขึ้นหลายอันดับ จึงคาดว่า ดัชนีนวัตกรรมโลก GII ของ WIPO ในปี 2566 ซึ่งจะประกาศในเดือนกันยายนนี้ ประเทศไทยจะได้อันดับที่ดีขึ้น เพราะมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เข้มแข็งขึ้น มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานพันธมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องทางด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยมีเงินลงทุน แต่ยังหาจุดลงทุนที่เหมาะสมไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ NIA ที่จะจับคู่ให้เกิดขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์โควิดยังคลี่คลาย จึงเป็นจุดที่ดีในการขยายตลาด ซึ่ง NIA อยากจะส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ไปต่างประเทศได้มากขึ้น โดยจะสานต่อโครงการที่ดำเนินการไว้ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด
อย่างไรก็ตามแนวโน้มจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรมยังมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ใช่แค่สตาร์ทอัพอย่างเดียว NIA จะทรานสฟอร์มเอสเอ็มอี ที่มีอยู่ภายใต้นิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม กว่า 3 ล้านราย ให้กลายเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ซึ่งต้องมี 3 อย่าง คือ 1.การสร้างนวัตกรรม 2.ถ้าไม่สร้างนวัตกรรมจะต้องเป็นผู้ใช้นวัตกรรมในการปรับปรุงองค์กร การผลิตหรือบริการให้ดีขึ้น หรือ 3.เป็นองค์กรนวัตกรรม ขณะเดียวกันจะดึงบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาในมิติของการทำนวัตกรรมของประเทศมากขึ้น รวมถึงดึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาขับเคลื่อนในเชิงของนโยบาย
“แน่นอนที่สุดว่าประเทศที่พัฒนาไปได้มากๆ และมีระบบนวัตกรรมที่เติบโต จำเป็นต้องมีนโยบายด้านนวัตกรรมของประเทศที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการภาคเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะเก็บข้อมูลความต้องการจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาทำข้อเสนอเชิงนโยบายภายใต้ กระทรวง อว. เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไป ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลใดมาบริหารประเทศ นโยบายแบบนี้ยังไงก็ทำ ส่วนกรณีหากมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า แม้จะทำให้เกิดการชะงักงันด้านงบประมาณ หน่วยงานจำเป็นต้องตั้งรับโดยต้องเลือกทำในสิ่งที่จำเป็นก่อน แต่ก็มองว่ามีสิ่งที่ดีคือ หน่วยงานได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมเมื่อมีเม็ดเงินเข้ามาว่าจะทำอะไรร่วมกันบ้าง”
ผู้อำนวยการคนใหม่ของ NIA ฝากไว้ว่า นวัตกรรมอยู่ในทุกมิติ และอยู่ในนโยบายของทุกพรรค แต่พรรคไหนจะลงมือทำให้ประสบความสำเร็จ นั่นคือ สิ่งที่สำคัญที่สุด เราไม่อยากให้คำว่า “นวัตกรรม” เป็นแค่คำพูดที่สวยหรูอยู่แต่ในกระดาษ เราอยากทำให้คำว่า “นวัตกรรม” เกิดผลกระทบที่แท้จริง เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาเศรษฐกิจอย่างชัดเจน หากอยู่แต่ในกระดาษจะไม่สามารถทำให้คนไทยอยู่ดีกินดีได้ จึงต้องทำให้นวัตกรรมจับต้องได้ เห็นผลจริง และทำให้ประเทศไทยกลายเป็น “ชาตินวัตกรรม”