สจล.เปิดตัว “ต้นแบบรถไฟไทยทำ” หรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

เวทีวิจัย

              สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวผลงานพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) ในชื่อรถไฟ “สุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)” โมเดลรถไฟโดยสารต้นแบบสุดหรูหรา ที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย ใช้วัสดุและอุตสาหกรรมภายในประเทศในการประกอบตู้รถไฟชนิด Luxury Class และ Super-Luxury ที่หรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ภายใต้การสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟระยะกลางในแนวเส้นทางรถไฟรางคู่ระยะ 200-500 กิโลเมตร และรถไฟท่องเที่ยวในแนวเส้นทางของ รฟท. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินชั้นประหยัดและรถยนต์ส่วนบุคคล

              เมื่อเร็วๆ นี้  หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. เข้าตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการวิจัยและพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) ผลงานของนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข.

              เพื่อพัฒนาตู้รถไฟโดยสารต้นแบบที่เน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก รองรับนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคมและนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศที่ต้องการให้มีตัวรถไฟที่จะมีการซื้อ-ขาย ในอนาคต  ซึ่งต้องมีส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่า 40%

              คาดการณ์ว่าต่อจากนี้ไปอีก 20 ปี จะมีความต้องการตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ จากการเพิ่มขึ้นของทางรถไฟที่ภาครัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารถไฟต่อตู้ เฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท

              ทั้งนี้ตัวรถไฟ (Rolling Stock) จัดเป็นแก่นของเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของระบบราง จากการนำเข้าสินค้าประเภทตัวรถไฟและส่วนประกอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึง 2561 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสินค้าทุกประเภทในระบบราง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะต้องเร่งกระบวนการสร้างผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่มีความพร้อมในด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) และ การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ (Technology Localization) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมขนส่งทางรางของไทย

              รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยถึงจุดเด่นของรถไฟว่า “โครงการนี้มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก ร่วมกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตชิ้นส่วนที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยตั้งเป้าต้องดำเนินการโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศได้ไม่น้อยกว่า 40% ตามนโยบาย Thai First ของรัฐบาล ซึ่งโครงการนี้เราสามารถสร้างรถไฟโดยสารต้นแบบพร้อมอุปกรณ์ที่มี local content คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของมูลค่าสินค้ากรณีรวมแคร่รถไฟ และหากคิดเฉพาะตู้รถโดยสารพร้อมอุปกรณ์ประกอบไม่รวมแคร่รถไฟจะมี local content สูงกว่า 70% ซึ่งเราได้ออกแบบตัวรถเองทั้งหมดโดยได้แรงบันดาลใจจากที่นั่งในเครื่องบินชั้นธุรกิจ และชั้นเฟิร์สคลาสในรถไฟความเร็วสูง

              ในตัวต้นแบบนี้เราได้ทำที่นั่งจำนวน 25 ที่ ประกอบด้วยชั้น Super Luxury 8 ที่นั่ง และชั้น Luxury 17 ที่นั่ง ทุกที่นั่งมีจอภาพส่วนตัวสำหรับให้บริการด้านความบันเทิงและสั่งอาหาร ซึ่งจะมีพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์นำอาหารมาส่งถึงที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีระบบห้องน้ำสุญญากาศและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งทางขึ้นรถไฟ ที่ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานของผู้พิการ โดยราคาค่าโดยสารนั้นคาดว่าจะใกล้เคียงกับตั๋วแบบนอนของ รฟท.

              การพัฒนาต้นแบบในครั้งนี้เราได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. และบริษัทกิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด ซึ่งผลงานที่ออกมานั้นมีความคุ้มค่ากว่าการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาตัวรถให้มีน้ำหนักที่เบาลง จากการออกแบบด้วยระบบ Space Frame Modular Concept และแคร่รถไฟที่ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเราได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากโครงการแล้วจำนวนกว่า 7 ผลงาน และโครงการของเรายังมีผู้ประกอบการที่สามารถผลิตและประกอบชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า 10 บริษัทเข้าร่วมโครงการ จึงเป็นการช่วยสร้างระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมการผลิตรถขนส่งทางรางและสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมระบบรางตลอดห่วงโซ่การผลิต”

              ด้าน รศ. ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. กล่าวถึงบทบาทของ บพข. ในการสนับสนุนโครงการนี้ว่า  โครงการนี้ บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนโดยที่มีภาคเอกชนร่วมลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้วย เป็นการยืนยันว่าภาคเอกชนต้องการทำโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นโครงการที่มีศักยภาพสูงและเป็นโครงการที่ บพข. คาดหวังให้ประสบความสำเร็จ เพราะคนไทยรอให้ประเทศเรามีรถไฟที่ทันสมัยแบบนี้มานาน ผู้ประกอบการไทยจำนวนมาก มักกลัวการทำ R&D เพราะต้องใช้เงินลงทุนและมีความเสี่ยง ดังนั้น บพข. จึงต้องเข้ามาช่วยในส่วนนี้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำ R&D โดยมีการร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะ R&D คือสิ่งสำคัญต่อการสร้างองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและประเทศของเรา

              ซึ่งโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่าเขาสามารถทำได้ ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าองค์ความรู้และความสามารถของคนไทยไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่น แต่ว่าเอกชนไทยทุกวันนี้ยังขาดโอกาส ขาดการสนับสนุน บพข. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐจึงเข้ามาช่วยในส่วนนี้ คณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญใน บพข. เรามีความเข้มงวดในการพิจารณาโครงการ เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการต่าง ๆ ที่ส่งเข้ามานั้นมีผลกระทบ กับเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นหน้าที่หลักของ บพข.  และเมื่อโครงการผ่านการพิจารณาแล้ว เราได้ทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยอย่างจริงจัง เราคอยสนับสนุน ให้คำปรึกษา และแนะนำ ไม่ใช่เพียงสนับสนุนทุนวิจัยแล้วก็คอยดูผลลัพธ์ที่จะออกมา แต่ต้องทำงานเหมือนเป็นทีมเดียวกัน จึงเป็นผลให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้

              นายเมธัส เลิศเศรษฐการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด เปิดเผยถึงเหตุผลที่ร่วมลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในโครงการนี้ว่า  โครงการนี้เป็นการตอบคำถามอย่างเป็นที่ประจักษ์ว่าเราทำได้จริง และเชื่อว่าไม่ใช่แค่ไซโนเจน-ปิ่นเพชรที่ทำได้ ประเทศเรามีอีกหลายบริษัท ทั้งที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าไซโนเจน-ปิ่นเพชร แต่มีศักยภาพ  จุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามาร่วมโครงการนี้คือการที่รัฐบาลได้ลงทุนกับระบบรางกว่าแสนล้านบาท ทำให้มีความต้องการรถไฟเพิ่มขึ้น แต่ว่าเราต้องซื้อตัวรถเข้ามาจากต่างประเทศเนื่องจากยังไม่สามารถผลิตเองได้ ทำให้สุดท้ายก็จะกลายเป็นต่างชาติขายได้อย่างเดียว ทำให้รู้สึกว่าเราต้องเสียโอกาสในส่วนนี้ไปหากไม่ทำอะไรเลย

              ดังนั้นทางไซโนเจน-ปิ่นเพชรกับทีมวิจัยจาก สจล. จึงร่วมมือกันทำโครงการนี้ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจาก รฟท. เขาได้เห็นว่ามีทั้งนักวิจัยที่เก่ง ๆ มีทั้งอาจารย์เก่ง ๆ ในประเทศเราที่มาร่วมมือกันและได้ทำสิ่งนี้ขึ้นมาจนสำเร็จ ทั้งยังผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสากล ซึ่งความปลอดภัยนั้นเป็นหัวใจหลักของรถโดยสาร

              สิ่งที่เราได้จากโครงการนี้คือเราได้มีโอกาสลองทำและทำได้สำเร็จ ซึ่งทำให้ลูกค้าที่ทำงานโดยใช้ระบบรางได้เห็นว่ามีผู้ประกอบการไทยสามารถทำเรื่องนี้ได้ อย่างน้อยก็ไม่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติราคาแพง ๆ ซึ่งกว่าจะจบโปรเจคก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในส่วนนี้ แต่เรามีคนไทยที่ทำได้ และเราจำเป็นต้องพึ่งพาตัวเอง ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านเราไม่ว่าจะเป็นประเทศเมียนมาร์ เวียดนาม และมาเลเซีย สามารถสร้างรถจักรเองได้แล้ว แต่ประเทศไทยเรายังต้องซื้อจากต่างประเทศอยู่ ซึ่งคิดเป็นงบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท

              ส่วนตัวมองว่าการซื้อเป็นเพียงค่าใช้จ่ายเริ่มต้น ยังมีค่าอะไหล่ ค่าซ่อมบำรุงตามมาอีก เราจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ และโครงการนี้เราได้ร่วมกันกับทีมวิจัยสร้างทุกชิ้นของตัวรถไฟ ซึ่งแน่นอนว่าเราจะต้องซ่อมเองได้ ถ้าเราทำเองเราจะได้เพิ่มพูนองค์ความรู้และองค์ความรู้นั้นก็จะอยู่กับเรา เราสามารถที่จะซ่อมบำรุงเองได้ ซึ่งแน่นอนกว่างบประมาณส่วนนี้ก็จะลดลงด้วยเช่นกัน และโครงการนี้ก็ได้เพิ่มพูนองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการแบบเราได้อย่างมากมาย”

              นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแผนการนำรถไฟต้นแบบไปใช้งานจริงในกิจการของ รฟท. ว่า  รฟท. ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการวิจัยนี้ตั้งแต่ต้น เราเห็นตั้งแต่โครงสร้างแรก และเรื่องของความปลอดภัยในการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งเป็นสาระสำคัญ โดยผู้วิจัยได้ดำเนินการส่วนนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตอนนี้อยู่ในขั้นของการทดสอบบนทางรถไฟจริงสำหรับการให้บริการ หากผ่านการทดสอบตรงนี้แล้วก็จะสามารถนำไปใช้จริงได้ ในส่วนของแผนการเดินรถในอนาคตอาจต้องมีการทำแผนการจัดจำนวนที่นั่งและการจัดรูปแบบก่อนว่าจะเป็นอย่างไร โครงการนี้เป็นต้นแบบซึ่งทาง รฟท. และทีมวิจัยมีความคาดหวังที่จะลองหลาย ๆ รูปแบบเพื่อให้รู้ว่าวิธีไหนที่จะเหมาะสมกับผู้โดยสาร เช่น ผู้โดยสารระยะกลาง หรือผู้โดยสารระยะไกล โดยอาจนำไปลองกับผู้โดยสารระยะกลางก่อน สังเกตุว่ารถที่เราออกแบบมาจะเป็นกึ่งรถนอน คือเป็นรถที่มีที่นั่งสบาย ๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับรางคู่ระยะกลางที่มีระยะทางประมาณ 500 กม. เราต้องการทำรถไฟให้สามารถแข่งขันกับสายการบิน รวมถึงผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวได้ เพื่อดึงผู้โดยสารกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่อาจไม่เคยใช้บริการรถไฟมาก่อน ได้หันมาใช้บริการรถไฟของ รฟท. เพื่อสร้างรายได้ให้กับ รฟท. เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถนำรายได้นั้นไปพัฒนารถไฟชั้น 3 หรือตู้โดยสารแบบอื่น ๆ มาให้บริการประชาชนได้มากขึ้น

              นอกจากนี้จุดเด่นของรถขบวนชุดนี้ยังเป็นขบวนที่มีความเงียบเนื่องจากไม่มีตัวเครื่องยนต์ปั่นไฟในตัวรถ ซึ่งเป็น concept ที่ รฟท. ใช้อยู่ จึงสามารถนำต้นแบบนี้ไปปรับใช้ได้ โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราสามารถประกอบตัวรถไฟที่มีชิ้นส่วนภายในประเทศได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เราสามารถใช้ local content ภายในประเทศได้มากยิ่งขึ้น