กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจากแกนกัญชงขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์มาทดสอบ ฯ ชี้มาตรฐาน ฯ ช่วยหนุนสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาดได้จริง พร้อมโชว์ผลงานใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคมนี้ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิล์ด
“ดร.สุวรรณี แทนธานี” นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กองพัฒนาธุรกิจวิทยาศาสตร์บริการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กัญชงหรือเฮมป์ (Hemp) ถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่นอกจากจะมีการส่งเสริมให้ปลูกเพื่อเป็นสินค้าทั้งเครื่องสำอาง สิ่งทอ และยารักษาโรคแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำแกนกัญชง ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งที่มีเป็นจำนวนมากในแปลงปลูกที่มีอยู่ทั่วประเทศมาเพิ่มมูลค่า หรือทำให้เป็น Zero Waste โดยใช้เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง อย่างเช่น “เฮมป์ครีตบล็อก” และ “เฮมป์พาร์ทิเคิลบอร์ด” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม แม้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้จะมีที่มาจากงานวิจัย และบางผลิตภัณฑ์สามารถสร้างชื่อจากการประกวดผลงานในเวทีสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกมาแล้ว แต่การจะผลิตออกสู่ตลาดในระดับอุตสาหกรรมหรือขายเชิงพาณิชย์ได้จริงนั้น สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. และด้วยผลิตภัณฑ์จากแกนกัญชงเป็นนวัตกรรมใหม่ จึงยังไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรองรับ
กรมวิทยาศาสตร์บริการในฐานะหนึ่งในองค์กรกำหนดมาตรฐาน หรือ SDO ได้ร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ใช้งาน ผู้ผลิตและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจากแกนกัญชงขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) ได้มีการประกาศใช้แล้ว ทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เฮมป์ครีตบล็อก (มอก.3490-2565) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เฮมป์พาร์ทิเคิลบอร์ด (มอก.3553-2566)
“ วศ. เป็น SDO หรือองค์กรกำหนดมาตรฐานที่เป็นเครือข่ายกับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่ง วศ.มีห้องปฏิบัติการเป็นของตัวเอง ดังนั้นในส่วนของสินค้านวัตกรรม อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์จากแกนกัญชง จะมีการพัฒนามาตรฐานร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย เช่น มทร.ธัญบุรี, มทร.อีสาน และมทร.รัตนโกสินทร์ และมีภาคเอกชน เช่น บริษัทอริยะสุทธิ อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัทเฮมพ์ไทย และบริษัทดีดี เนเจอร์ คราฟท์ จำกัด รวมถึงวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปพืชเกษตรพบพระ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้งานจริงเข้ามาร่วมด้วย โดยนักวิจัยจะทำผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปมาทดสอบที่ วศ. เพื่อออกเป็นค่ากำหนด มีการพัฒนาหลายสูตร และดูว่าสูตรไหนเป็นที่ยอมรับและได้มาตรฐานเทียบเคียงกับท้องตลาด เราจะดึงตัวนั้นมาเป็นเกณฑ์กำหนด และร่างเป็นมาตรฐานขึ้นมา เพื่อให้สินค้านั้นสามารถขายได้”
ดร.สุวรรณี กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่มีแกนกัญชงเป็นส่วนผสม สามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่น เฮมป์พาร์ทิเคิลบอร์ด ซึ่งเดิมใช้เป็นวัสดุตกแต่งภายใน ใช้กั้นเป็นผนังห้อง โดยเป็นวัสดุที่กันความร้อน ดูดซับเสียงได้ดี คือมีคุณสมบัติที่เป็นฉนวน มีความเป็นรูพรุนสูงและเบากว่าไม้อัด นอกจากนี้กันชงยังมีคุณสมบัติในการดูดกลิ่น จึงสามารถ ทำเป็นบ้านสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย ส่วนเฮมป์ครีตบล็อก จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำแกนกันชง ผสมกับตัวประสาน เช่น ปูนซีเมนต์ ยิปซัม ปูนขาวในอัตราส่วนที่เหมาะสม แล้วขึ้นรูปในแบบหล่อ มีความแข็งแรงและน้ำหนักเบาสามารถใช้เป็นวัสดุก่อสร้างได้
ผู้ประกอบการและผู้สนใจ… ชมได้ที่งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ( Thailand Research Expo 2023 )” ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศ จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ วิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ที่ห้องประชุมชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิล์ด