AIS จับมือกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายทั้งกรมสุขภาพจิตและ มจธ. ขยายผล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” สู่ 437 โรงเรียนสังกัด กทม. หวังยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของกลุ่มนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้อยู่ในระดับที่รู้เท่าทัน มีทักษะดิจิทัล สามารถใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษา คือหนึ่งในภารกิจของกรุงเทพมหานคร ที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด กทม.ให้มีความทันสมัย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเนื้อหาหรือแม้แต่ทักษะด้านดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานบนโลกออนไลน์ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสม ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากผู้ไม่หวังดีและมิจฉาชีพ ซึ่งความร่วมมือกับ AIS รวมถึงกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ในการนำ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ไปบูรณาการเป็นสื่อการเรียนการสอน ในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคมและแนะแนว ให้แก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งโรงเรียนระดับอนุบาล – ประถมศึกษา, ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 437 แห่ง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษา 2566 เป็นต้นไป
ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมนโยบายด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานครให้ยกระดับไปอีกขั้น โดยจะทำให้ทั้งบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนโดยรอบในชุมชนมากกว่า 250,000 คน ได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ จนนำไปสู่การเสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย
“ นโยบายการศึกษาของ กทม. มุ่งเน้นทำให้การศึกษาเป็นการเรียนรู้ โดยออกแบบการศึกษาให้สามารถตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำ คือการปรับโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนในสังกัด กทม.ให้มีความทันสมัย โดยเร็วๆ นี้ โรงเรียนในสังกัด กทม.จะมีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ครบทุกโรงเรียน และ ยังมีนโยบายทำให้การเรียนรู้ในห้องเป็นดิจิทัล คลาสรูม ซึ่งการเรียนรู้จะเป็นเชิงรุกมากขึ้น สามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาการเรียนการสอนได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ในส่วนของเนื้อหา กทม. อาจจะผลิตเนื้อหาเองได้ส่วนหนึ่ง แต่ด้วยความสำคัญของภาคีเครือข่ายที่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทำให้มีเนื้อหาดี ๆ กับสังคมมาจากภายนอกด้วย และหนึ่งในเนื้อหาที่ไม่ใช่แค่เด็กแต่เป็นผู้ใหญ่ที่จะต้องเรียนรู้ใหม่ด้วย ก็คือ เรื่องของดิจิทัล ที่จำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างความเข้าใจ ต้องขอบคุณเอไอเอสที่นำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ มาให้ ซึ่งกทม.จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำเข้าไปอยู่ในหลักสูตรที่ใช้กับห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่จะมีอยู่ในทุกโรงเรียนสังกัด กทม.”
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “จากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index พบว่า กลุ่มนักเรียนที่เราอาจจะเข้าใจว่าสามารถใช้งานสื่อดิจิทัลออนไลน์ได้อย่างเชี่ยวชาญในฐานะคนรุ่นใหม่ แต่ผลวิจัยกลับชี้ว่า เป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจให้สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้เราได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลส่งต่อหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไปยังสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเดินหน้านำหลักสูตรการเรียนรู้ดังกล่าว ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือแม้แต่การส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง สกมช. โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ จะทำให้เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของเด็กไทยและคนไทยให้อยู่ในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป”
ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “เราอยากให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดี คือ อยากให้ทุกคนมีความสุข ซึ่งปัจจุบันเราไม่ได้อยู่แค่ในโลกจริง เท่านั้นแต่ยังอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย ดังนั้นหากทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยได้ทั้งโลกความเป็นจริงและโลกดิจิทัลได้ ก็จะทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตดีขึ้นได้ กรมสุขภาพจิตฯ จึงร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการทำให้เกิด “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย และสามารถเรียนรู้ได้อย่างสะดวกสบายผ่านทางออนไลน์ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันภัยบนโลกออนไลน์มีมากกว่าการหลอกลวง ซึ่ง 2 อันดับแรกของภัยออนไลน์ที่พบมากที่สุด อันดับแรกคือการติดเกมออนไลน์รวมถึงการติดอินเทอร์เน็ต ส่วนอันดับสองคือการไซเบอร์บูลลี่ หรือการกลั่นแล้งบนโลกออนไลน์”
สำหรับ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล คือ 1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม2.Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ 3. Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ 4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index