สอวช. ประกาศร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน ขับเคลื่อนโครงการริเริ่มนวัตกรรมระบบนิเวศและเมืองต้นแบบสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาจังหวัดต้นแบบ-สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ “PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนชีเมนต์ไทย (TCMA) และ 21 หน่วยงาน 7 กระทรวง ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดสระบุรี ในฐานะที่ประเทศไทยได้แสดงปณิธานร่วมกับประชาคมโลกในการสนับสนุนการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี พ.ศ. 2573 และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593
นับเป็นการเตรียมความพร้อมของจังหวัดสระบุรีในการตอบรับการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ภายใต้ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาคการเกษตร อาทิ การพัฒนาข้าวโพดดัดแปลงพันธุ์ ให้สามารถใช้งานแหล่งพลังงานทดแทน และลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ภาคอุตสาหกรรม อาทิ การส่งเสริมการใช้ปูนไฮดรอลิกในทุกงานก่อสร้าง เพื่อลดการใช้ปูนแบบธรรมดาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาคพลังงานจากแหล่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ อาทิ พลังงานจากวัสดุเหลือใช้ พลังงานชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จะมีความสอดคล้องแผนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาครัฐ เพื่อให้จังหวัดสระบุรีเป็นต้นแบบของการสร้างความรวมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้ได้ตามเป้าหมายต่อไป
ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานโครงการริเริ่มนวัตกรรมระบบนิเวศและเมืองต้นแบบสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่ได้รับการมอบหมายจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ สอวช. ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งในขณะนี้อยู่ระหว่างการนำโครงการริเริ่มฯ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ร่วมกับ TCMA จัดแสดงนิทรรศการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทยใน Thailand Pavilion การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 ที่ประเทศดูไบ