NT เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก รายได้รวม 42,447 ล้านบาทใกล้เคียงปี 65 คาดสิ้นปีมีกำไร1-2 พันล้านบาท ชี้ต้องเร่งหารายได้เพิ่ม พร้อมลดค่าใช้จ่ายและบุคลากร รองรับรายได้หาย 5 หมื่นล้านจากคลื่นที่นำมาให้บริการพันธมิตรหมดอายุในปี 68
พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที(NT)เปิดเผยว่า ตลาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปีที่ผ่านมาค่อนข้างซบเซา เพราะโควิด-19 และเมื่อโควิดเริ่มหายไป ธุรกิจต่าง ๆ เริ่มมีการควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางตลาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่างประเทศที่ควบรวมเพื่อลดความซ้ำซ้อนและควบคุมค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันตลาดโมบายในประเทศไทยเริ่มอิ่มตัว โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 90 ล้านเลขหมาย อัตราการใช้มือถือของประชากรเฉลี่ย1 คนต่อ 1.5 เครื่อง ทำให้ตลาดแทบไม่มีการเติบโต ยกเว้นสิ่งที่จะเป็นอนาคตที่จะเริ่มเข้ามา เช่น ซิมสำหรับเทคโนโลยีไอโอที แต่อย่างไรก็ดีด้วยสภาพแวดล้อมของประเทศไทย 5 จี ยังไม่สมบูรณ์ทีเดียว จึงยังไม่เห็นการเติบโตเท่าที่ควร แต่เชื่อว่าภายในไตรมาส 1ของปีหน้าจะเริ่มเห็นการเติบโตของจำนวนผู้ใช้ไอโอทีมากขึ้น ดังนั้นรายได้ของ NT ในช่วง 6 เดือนแรกของปี2566 นี้ จึงแทบจะไม่แตกต่างจาก 6 เดือนก่อนของปีที่ผ่านมา
โดยผลประกอบการของ NT ในครึ่งปีแรก 2566 ( ม.ค.- มิ.ย.66) มีรายได้รวม 42,447 ล้านบาท รายจ่าย 40,900 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,547 ล้านบาท แต่หากรวมค่าใช้จ่ายโครงการลาออกก่อนเกษียณ ที่มีค่าใช้จ่าย 2,185 ล้านบาทจากคนสมัครใจลาออก 851 คน ทำให้ครึ่งปีแรกขาดทุน 638 ล้านบาท แต่คาดว่าภายในสิ้นปีจะสามารถทำกำไรได้ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท
พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวว่า รายได้หลักของ NT กว่า 50 % มาจากรายได้พันธมิตรผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจำนวน 22,303 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจโมบายเดิมนั้นถือเป็นธุรกิจดาวรุ่ง เพราะ NT เมีคลื่น 2100,2300 และ 850 MHz ซึ่งมีพันธมิตรเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 3 ราย ทำให้ในแต่ละปีมีรายได้จากพันธมิตรประมาณ 50,000 ล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือกำไร 10,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากคลื่นที่นำมาให้พันธมิตรใช้งานจะหมดอายุในปี 2568 ทำให้ NTต้องเร่งหารายได้จากธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงลดค่าใช้จ่าย และลดกำลังคน ซึ่งตามแผนธุรกิจฯ NT จะต้องลดกำลังคนจาก 13,800 คนในปัจจุบัน เหลือประมาณ 7,000 คนภายในปี 2570
อย่างไรก็ดีในส่วนของลูกค้าโมบายที่เป็นรายย่อยที่ใช้บริการของ NT ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 ล้านเลขหมาย จะมีการโอนย้ายจากโครงข่าย 850 MHz ไปยังโครงข่าย 700 MHz ที่เป็นเทคโนโลยี 5G โดยปัจจุบัน NTอยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งานในบางพื้นที่ในกทม. คาดว่าจะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่4 ทั้งนี้ NT จะมีการผลักดันกลยุทธ์สำคัญในการรักษาฐานลูกค้าโมบาย เช่น จัดทำรายการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ใช้บริการที่โอนย้ายจากโครงข่าย 850 MHz ไปยังโครงข่าย 700 MHz ภายในระยะเวลาที่กำหนด ร่วมกับการเพิ่มช่องทางจำหน่ายแบบออนไลน์ เพิ่มตัวแทนขาย และกระตุ้นยอดขายตัวแทนจำหน่ายในทุกพื้นที่ พร้อมจัดทำแคมเปญกระตุ้นตัวแทนขาย ควบคู่กับขยายตลาดเพิ่มเซกเมนต์ภาครัฐ โดยจัดทำแพ็คเกจให้บริการแบบ Total Solution และ IoT
สำหรับความคืบหน้าโครงการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา NT ได้ดำเนินงานสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่อง เช่น การต่อยอดบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ซึ่ง NT ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการจัดหาทรัพยากรด้านการประมวลผล ให้กับภาครัฐในรูปแบบการให้บริการ Cloud Service รองรับหน่วยงานรัฐให้เข้าถึงทรัพยากรด้านคลาวด์มาตรฐานสากล โดยเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลภาครัฐด้วยเทคโนโลยีใหม่ทันสมัยเป็นการขยาย Capacity รองรับการใช้งานภาครัฐที่มีความต้องการสูงขึ้นทุกปี รวมทั้งได้เพิ่มบริการ Market Place บน GDCC ให้บริการแพลตฟอร์มไอที แอปพลิเคชันใหม่ๆ และเครื่องมือด้านบิ๊กดาต้าสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งพร้อมสนับสนุนรัฐบาลใหม่ที่จะเข้าบริหารประเทศด้วยข้อมูลขนาดใหญ่จากระบบคลาวด์และบิ๊กดาต้า
นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย ASEAN Digital Hub ซึ่งเป็นโครงการเพิ่มศักยภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบนได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา โดยก่อนหน้านี้ NT ได้ขยาย Connectivity ผ่านโครงข่ายชายแดน (Cross Border Optical Fiber) ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานแล้วคิดเป็น 64% ขณะนี้มีความคืบหน้าในการจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ ASIA Direct Cable (ADC) กว่า 90 % คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ทดสอบระบบฯ รวมถึงส่งมอบสิทธิการใช้งานได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567
โครงการดังกล่าวจะส่งผลให้เพิ่มความจุแบนด์วิดท์รวมของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการเติบโตของอินเทอร์เน็ตทราฟฟิกสูง เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ประกอบกิจการคอนเทนต์ (Content Provider) รายใหญ่เข้ามาตั้งฐานข้อมูลในประเทศไทย และมีการใช้งานผ่านโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่ได้ขยายความจุไว้ ซึ่งเป็นการผลักดันประเทศให้สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ตามนโยบายภาครัฐ
ขณะที่การบริหารธุรกิจดาวเทียมในปัจจุบันและอนาคต นอกจากให้บริการสื่อสารดาวเทียมไทยคม 4 บนวงโคจร 119.5E และไทยคม 6 วงโคจร 78.5E ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นองค์กรและหน่วยงานภาครัฐแล้ว NT ยังมีโครงการขยายบริการด้านดาวเทียมในอนาคต ได้แก่ การให้บริการผ่านดาวเทียมตำแหน่งวงโคจร 126E ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากผู้ผลิตดาวเทียม ผู้ให้บริการ Launcher การประสานงานความถี่ในขั้นปลาย รวมถึงการสำรวจความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมของหน่วยงานภาครัฐเพื่อนำเสนอกระทรวงดิจิทัลฯ โดยโครงการดาวเทียมตำแหน่งวงโคจร 126E ดังกล่าวมีศักยภาพรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของทุกหน่วยงานภาครัฐและรวมถึงโครงการ USO ที่มีการใช้งานดาวเทียมทั้งหมด
นอกจากนี้ NT ยังร่วมมือกับพาร์ตเนอร์บริการดาวเทียมระดับโลก OneWeb นำเอาบริการดาวเทียมวงโคจรต่ำมาให้บริการในประเทศ โดยเน้นให้บริการโดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกลซึ่งเสาสัญญาณไม่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสถานีเกตเวย์สำหรับอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม OneWeb ณ สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี อยู่ระหว่างรอการทดสอบติดตั้งอุปกรณ์ และมีแผนเปิดให้บริการราวต้นปีหน้า
ส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินนั้น NT ร่วมกับ กฟน. กฟภ. องค์กรภาครัฐ และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารแล้วเสร็จระยะทาง 34.1 กม. และด้วยท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของ NT ที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมืองทั่วประเทศรวม 4,450 กม. จึงพร้อมอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้บริการค่ายต่าง ๆ เช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินซึ่งพัฒนาเป็นระบบ Single Last Mile ที่เชื่อมต่อกับบ้านลูกค้าแล้ว ด้วยหลักการ Infrastructure sharing โอเปอเรเตอร์ทุกรายจะไม่ต้องลงทุนสร้างและบำรุงสายสื่อสารเอง สามารถลดต้นทุนโดยเช่าตามที่ใช้จริงและตามระยะเวลาที่มีลูกค้าใช้บริการ
พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวอีกว่า NT สามารถเพิ่มรายได้ในภาพรวมจากกลุ่มบริการดิจิทัลได้ชัดเจนขึ้น โดยบริการเดิมอย่าง NT CLOUD ยังรักษาการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20-25 % และบริการใหม่ที่เริ่มทำรายได้ เช่น ระบบ National Single Window (NSW) ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา คาดว่าจะสร้างรายได้รวมในปี 2566 ประมาณ 160 ล้านบาท ขณะที่บริการ NT Big Data & AI ซึ่งเปิดให้บริการมา 4 ปี มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดดปีละ 45% จากเทรนด์ปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการทำธุรกิจ
ส่วน NT Data Center ให้บริการ 13 แห่งทั่วประเทศ รองรับได้มากกว่า 1,200 racks ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 90% NT จึงมีแผนในการสร้าง Data Center แห่งใหม่ความจุมากกว่า 1,000 racks เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นทุกปี อีกทั้งขยายการพัฒนาธุรกิจบริการดิจิทัลด้าน Application Platform & Digital Solutions เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานภาครัฐด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)