คณะแพทยศาสตร์ มธ.จับมือมหาวิทยาลัยชั้นนำจากสหรัฐฯ จัด “ AI in MED Conference 2023 ” งานประชุมวิชาการครั้งแรกในไทยที่รวบรวมและเจาะลึกการใช้ AI ในวงการแพทย์ระดับโลกไว้ในงานเดียว หวังเป็นจุดเริ่มต้นผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี AI มาใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม
รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ มธ. มีวิสัยทัศน์ในการเป็นคณะแพทยศาสตร์ชั้นนำระดับสากล และสร้างผู้นำทางการแพทย์สู่สังคมอย่างยั่งยืน ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนมาครบ 33 ปี ผลิตบัณฑิตแพทย์สู่สังคมแล้วกว่า 4 พันคน ที่ผ่านมามีการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยทางคลินิก มีความร่วมมือกับภาคเอกชนรวมถึงโรงเรียนแพทย์อื่น ๆ และในปีนี้ได้มีการจัดสร้างอาคารศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์ธรรมศาสตร์ หรือ TMEd โดยมีการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นซิมมูเลชั่น เซ็นเตอร์ ที่มีห้องจำลองสถานการณ์ เช่น ห้องฝึกผ่าตัด ห้องฉุกเฉินจำลอง ซึ่งเป็นเทรนด์ของการศึกษาในอนาคต ที่จะช่วยให้นักศึกษาได้ฝึกและสามารถประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาพร้อมรับมือกับสถานการณ์จริง
นอกจากนี้คณะแพทยศาสตร์ มธ. ยังมีการเรียนการสอนเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การจำลองภาพสามมิติ รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ที่จะทำให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น และพร้อมรับกับการนำไปต่อยอดในอนาคต ซึ่งนอกจากเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยลดระยะเวลา ทำให้แพทย์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถคัดกรองผู้ป่วยในชุมชนได้อย่างรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้
“คณะแพทยศาสตร์ มธ. ซึ่งยึดมั่นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานมากว่า 30 ปี มีแผนในการนำ AI และเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการและนำไปสู่การเป็น Smart Hospital จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาพื้นฐานที่ถูกต้อง มีการพัฒนาบุคลากรและเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสถานพยาบาลที่จะรองรับสังคมสูงวัยที่เป็นอนาคตอันใกล้ ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ที่ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ที่พร้อมปฏิบัติงานประมาณ 4 หมื่นคนจากการดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศ”
อย่างไรก็ดีเนื่องจากความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาวงการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามามีบทบาทกับการให้บริการทางการแพทย์มากขึ้น ล่าสุด… คณะแพทยศาสตร์ มธ. ได้ร่วมมือสถาบัน Marnix Heersink for Biomedical Innovation สถาบันชั้นนำของการค้นคว้าวิจัยงานนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี การแพทย์ของสหรัฐ ฯ ซึ่งอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยอลาบามา ณ เบอร์มิงแฮม (University of Alabama at Birmingham) จัดงานประชุมวิชาการ “ AI in MED Conference 2023” ขึ้น ภายใต้แนวคิด “ Discover the Power of AI in Medicine -Bringing Together the Next Era of Medical AI and Digital Health ”
โดยงานนี้เป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมเอานวัตกรรมด้านการแพทย์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ใช้ในทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลกมาไว้ในงานเดียวกัน เพื่อเป็นแนวทางในการผลักดันวงการการแพทย์ไทยให้ก้าวสู่ยุคใหม่แห่ง Medical AI และ Digital Health ที่จะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในอนาคตอันใกล้ งานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 18-19 กันยายน 2566 ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพ
รศ.นพ.ดิลก กล่าวว่า การพัฒนา AI ทางการแพทย์ในประเทศไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และมีข้อมูลที่กระจัดกระจาย แม้จะมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ รวมถึงแชตบอท มาใช้งานในช่วงโควิด19 แต่ยังไม่ถึงขั้นเทคโนโลยีขั้นสูง จึงอยากให้เกิดการรวมกลุ่มพัฒนา AI ทางการแพทย์มากขึ้น และงาน AI in MED Conference 2023 จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
“เราจะเดินเข้าสู่โลกการแพทย์แห่งอนาคตด้วยกันในงานครั้งนี้ เพราะเราได้รวมเอาผู้เชี่ยวชาญของทั้งในเมืองไทยและที่อเมริกามาไว้บนเวทีเดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง แบ่งปันข้อมูลเชิงลึก และวาดภาพแผนการนำเอา AI มาใช้เพื่อปฏิวัติวงการแพทย์ไทยในทศวรรษข้างหน้านี้ไปด้วยกัน เราไม่เพียงแต่จะโฟกัสไปที่ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เรายังจะดูถึงแนวทางการนำมาใช้ได้จริงเพื่อช่วยวางแนวทางสู่นวัตกรรมทางการแพทย์ในยุคต่อไปด้วย และจากความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มธ.กับมหาวิทยาลัยอลาบามา ณ เบอร์มิงแฮม ในครั้งนี้ เราคาดหวังว่าจะสามารถต่อยอดไปสู่ความร่วมมือในอนาคตทั้งด้านการเรียนการสอน การให้บริการประชาชน หรืองานวิจัยอื่น ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยี AI ทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็วและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้”
ด้านตัวแทนจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ดร. รูบิน พิลเลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรม แห่ง UAB Health System กล่าวว่า “งานประชุม AI in MED Conference ครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของเราในการสนับสนุนนวัตกรรมทั้งทางด้านการแพทย์และเทคโนโลยี วิสัยทัศน์ที่เราและทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเหมือนกันนั่นก็คือ การคิดค้นและเป็นแนวหน้าเพื่อนำการแพทย์ก้าวสู่ยุคของ Medical AI และ Digital Health ด้วยโซลูชั่นที่มีศักยภาพเพื่อมาแปลงโฉมภูมิทัศน์ทางการสาธารณสุข”
หัวใจสำคัญของงาน AI in MED Conference 2023 คือ การเสนอศักยภาพของเทคโนโลยี AI มาใช้และพลิกโฉมวงการแพทย์ ตั้งแต่การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแพทย์และการสาธารณสุขของประชากรที่อยู่ห่างไกลผ่านระบบ Telemedicine ไปจนถึงการปฏิรูประบบบริหารจัดการให้คล่องตัวมากขึ้น เพื่อลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ ทั้งหมดนี้ AI คือพลังสำคัญที่จะมาช่วยเปลี่ยนแปลงการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้ง AI ยังสามารถประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งจะช่วยการงานวิจัยและพัฒนาเดินหน้าได้รวดเร็วขึ้น ช่วยให้เราก้าวไปใกล้กับการค้นพบทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้คนมากยิ่งขึ้น
สำหรับวิทยากรระดับโลก ที่จะมาบรรยายในงาน นอกจาก ดร. รูบิน พิลเลย์ Chief Innovation Officer แห่ง UAB Health System โรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 8 ของสหรัฐ ฯ แล้ว ยังมี ดร. แอนโทนี ชาง Chief Intelligence Officer คนแรกของสหรัฐ ฯ ผู้นำด้าน AI in Healthcare และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร AI in Medicine ของมหาวิทยาลัยอลาบามา ณ เบอร์มิงแฮม (University of Alabama at Birmingham) มร. ทิโมธี โชว ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cloud-computing ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น President ของ Oracle On Demand และปัจจุบันรับหน้าที่เป็นอาจารย์ Cloud computing ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) และ มร.อัลฟอนโซ ลิมอน สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิจาก The American Board of AI in Medicine ผู้เชี่ยวชาญด้าน Algorithmic code และ ด้าน AI ทางการแพทย์
ผู้สนใจสามารถสำรองบัตรเข้าร่วมงานได้ ที่ https://bit.ly/45bOqa1 หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.articulateasia.com/2023conference