สวทช. เผยทันทีที่มี “แผน AI แห่งชาติ” ดันดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาลของไทยเลื่อน ขึ้นจาก 59 เป็น 31 ทันที
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเลขานุการร่วมของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565–2570” (Thailand National AI Strategy and Action Plan 2022-2027) ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนา AI ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ โดยมี สวทช. และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. ร่วมเป็นเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ ซึ่งปัจจุบันดำเนินงานมาครบรอบ 1 ปี
การจัดทำแผนปฏิบัติการ AI ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือจริยธรรม AI เล่มแรกของไทย การจัดหลักสูตรจริยธรรมที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการเปิดตัวศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ AI อย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI บนคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) รวมทั้งเปิดให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 70 ของโลก สำหรับการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและเอกชน
“ด้านการพัฒนากำลังคน ขณะนี้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้าน AI ได้เห็นชอบภาพรวมข้อเสนอการพัฒนากำลังคนด้าน AI เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI ในทุกระดับและทุกสาขาตรงตามความต้องการของเอกชน ส่วนผลงานด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ เช่น มีหน่วยงานภาครัฐใน 76 จังหวัด นำระบบวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TPMAP) เข้าไปขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย
ทั้งนี้จากการดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีบุคลากรเข้ารับการอบรมในโครงการและหลักสูตร AI จำนวน 83,721 คน มีโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI ในกองทุนวิจัยมูลค่า 1,290 ล้านบาท มีสตาร์ตอัปลงทุนเพิ่มจากการส่งเสริมของรัฐมูลค่า 639 ล้านบาท และที่สำคัญคือจากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 ทันทีที่มีแผนปฏิบัติการ AI ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดการดำเนินงานเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ai.in.th ”
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างผลงานการประยุกต์ใช้ AI ที่จะเป็นก้าวสำคัญสู่การขับเคลื่อนวงการแพทย์ คือ การพัฒนาเครือข่ายและแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ หรือ Medical AI Data Sharing โดยล่าสุดเมื่อวันที่28 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือ เรื่อง “การวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์” ระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สวทช. ภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
“ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์มากขึ้น แต่โจทย์ใหญ่คือการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยด้าน AI เข้าถึง เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ป่วย รวมถึงการขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ดังนั้นความร่วมมือในการพัฒนา Medical AI ของทั้ง 3 หน่วยงาน ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้นักวิจัยด้าน AI ได้เข้าถึงคลังข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ภาพเอกซเรย์ทรวงอก ภาพ MRI/CT มะเร็ง ภาพจอประสาทตา (โดยข้อมูลมีการจัดการด้านข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ผ่านคณะกรรมการ Medical AI DATA Consortium) เพื่อให้สามารถนำความเชี่ยวชาญด้าน AI เข้าไปส่งเสริม ขยายผล และต่อยอดการใช้ประโยชน์ของข้อมูล
ดังเช่น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “AIChest4All” ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้แพทย์คัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด วัณโรค โรคทรวงอก และความผิดปกติอื่น ๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำใน 1 นาที เครือข่ายความร่วมมือที่ครบวงจรเช่นนี้จะดึงดูดให้โรงพยาบาลวิจัย และหน่วยงานสาธารณสุข ให้ความสนใจเข้าร่วมอีกไม่น้อย นับเป็นอีกความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความทันสมัย รวมทั้งผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Hub) ของเอเชีย”