“ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา บริษัทเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตอย่างมั่นคงนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาการบริหารจัดการที่ดีในทุกมิติ ทั้งเรื่องของชุมชน สิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบให้คุ้มค่ามากที่สุด ตลอดจนการมองหาโอกาสเพิ่มช่องทางที่จะทำให้สินค้าที่ผลิตมีมูลค่าที่สูงขึ้น”
นี่คือความเชื่อมั่น.. ของบริษัทอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด หรือ บ้านโป่งทาปิโอก้า ที่เติบโตจากบริษัทครอบครัว และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตแป้งมันแบบดั้งเดิม มาสู่ “ Texture House Company ”
สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและมีขนาดใหญ่ ซึ่งไทยเป็นผู้นำในการส่งออก โดยมีผู้เกี่ยวข้องเป็นเกษตรกรกว่า 2 ล้านคน เกิดการจ้างงาน 2 หมื่นคน สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยตรงกว่า 2 แสนล้านบาท
หากมองขนาดรายได้ของ “บ้านโป่งทาปิโอก้า” ระดับสองพันล้านบาทต่อปี เรียกได้ว่า ยังเป็นบริษัทที่ไม่ใหญ่มาก แต่ความน่าสนใจอยู่ที่วิธีคิดที่ต้องการการเติบโตแบบมั่นคงและยั่งยืน จึงมีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง รวมถึงนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสม ทำให้ปัจจุบัน…แม้ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ก็เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัททั้งในระดับประเทศและระดับโลก ที่สามารถดัดแปรแป้งมันสำปะหลังให้มีคุณสมบัติต่าง ๆ ได้
…และเป็นอีกหนึ่งบริษัทตัวอย่างที่ใช้แนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับแนวคิด BCG Model มาเป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
“ประสิทธิ์ สุขสมิทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด กล่าวว่า บ้านโป่งทาปิโอก้า เป็นบริษัทครอบครัวที่เป็นชาวราชบุรี เริ่มจากการผลิตแป้งมันสำปะหลังแบบดั้งเดิม ก่อนที่จะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตไปสู่ “ Texture House Company ” ปัจจุบันมีโรงงาน 11 แห่งในจังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี มีพนักงาน 550 คน เป็นพนักงานในส่วนวิจัยและพัฒนา 45 คน และมีลูกค้ากว่า 200 ราย กระจายอยู่ใน 21 ประเทศทั่วโลก
“และจากปัจจุบันหากมองย้อนไปดูแนวทางการดำเนินงานของบริษัท เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของบริษัทมีความสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ BCG Model ที่ภาครัฐสนับสนุน ซึ่งบริษัทมองว่า BCG Model เป็นแนวทางพื้นฐานที่แท้จริงของการดำเนินธุรกิจ ที่จะสามารถทำให้บริษัทเราเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งในและต่างประเทศ”
“กิตติ สุขสมิทธิ์” รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายซัพพลายเชน บ้านโป่งทาปิโอก้า บอกว่า คำว่า BCG Model ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบริษัท ซึ่ง ณ วันนี้ บ้านโป่งทาปิโอก้า กล้าพูดได้ว่า “ เราเป็นธุรกิจที่เดินตาม BCG Model ได้อย่างครบวงจร”
เริ่มจากเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ซึ่งธุรกิจของบ้านโป่งทาปิโอก้า เป็นด้านการเกษตรและธุรกิจอาหารจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอยู่แล้ว บริษัทมีการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง ปลูกมันสายพันธุ์พิเศษ เช่น ลูเซนท์ (LUCENT) เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของมันสำปะหลังและรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 100 – 150% เกษตรกรในเครือข่ายได้รับการดูแลจากบริษัทอย่างครบวงจร บริษัทสามารถวางแผนการผลิตภายในบริษัทได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังได้เริ่มมีการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางการเกษตร ในกลุ่มธัญพืช เพื่อนำมาพัฒนาเป็นแป้งที่มีมูลค่าสูง อย่างเช่น ถั่วเขียว ถั่วขาว และข้าว
ส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เนื่องจากหัวมันสำปะหลัง ประกอบด้วยสามส่วน คือ แป้ง กาก และน้ำ หลังจากสกัดแป้งไปใช้ น้ำและกากมันรวมถึงเปลือกมัน ก็คือของเหลือใช้ บริษัทได้มีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมด โดย กากมัน เปลือกมัน และตะกอนดิน ที่ติดมาจากมันสำปะหลัง บริษัทได้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงแมลงสำหรับนำไปสกัดเป็นโปรตีน และยังนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตทรายแมว ขณะที่น้ำเสียจากกระบวนการล้างมัน และน้ำที่สกัดออกมาจากหัวมัน ที่เป็นปัญหาสำหรับของโรงงานอุตสาหกรรมดั้งเดิม บริษัทได้มีการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียแบบครบวงจร โดยส่วนหนึ่งใช้จุลินทรีย์ในการบำบัดจนได้น้ำ สะอาดตามมาตรฐานกลับมาใช้ล้างหัวมันรอบใหม่ และอีกส่วนหนึ่งนำไปผลิตเป็นไบโอแก๊ส หรือ แก๊สชีวภาพสำหรับทดแทนเชื้อเพลิงพลังงานความร้อนในกระบวนการอบแป้ง
กระบวนการดังกล่าวช่วยลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเรื่อง เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) นอกจากนี้บริษัทยังใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนจากโซลาร์ฟาร์มในช่วงเวลากลางวันอีกด้วย
ด้าน นพ.สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานนวัตกรรม บ้านโป่งทาปิโอก้า บอกว่า การนำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาการผลิตของบ้านโป่งทาปิโอก้า นับว่าเป็นหัวใจของการเติบโตของบริษัทในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องของการขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ของบริษัทให้เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจการจากโรงงานแปรรูปแป้งแบบเดิมเพื่อก้าวไปเป็น Texture House company เพื่อให้บริการ Texture Solution ที่จะเข้าไปช่วยแก้โจทย์ปัญหาทางด้านเนื้อสัมผัส โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อาหารทางการแพทย์ กลุ่มอุตสาหกรรมยา และ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหาร อย่างเช่น อุตสาหกรรมกระดาษ
ปัจจุบันบ้านโป่งทาปิโอก้า ใช้ปริมาณหัวมันสำปะหลังจากเกษตรกรประมาณ 600,000 ตัน ซึ่งมาจากเกษตรกรในเครือข่าย 200,000ตัน และมาจากตัวแทนที่ป้อนมันให้กับบริษัท 300,000 ตัน ต้นทุนหัวมันอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อกิโล บริษัทนำมาแปรรูปเป็นสินค้าใน 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ แป้งมันสำปะหลังแบบดั้งเดิม (Native starch) มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 15% มูลค่าตลาดแป้งประเภทนี้ประมาณ 12 บาทต่อกิโลกรัม กลุ่มที่สอง คือแป้งมันดัดแปรพื้นฐาน (Basic Modified Starch) มีปริมาณการผลิต 41 % มูลค่าประมาณ 25 บาทต่อกิโลกรัม
กลุ่มที่สาม คือ แป้งดัดแปรมูลค่าสูง (High Value Food Texture Solution) ที่นำไปใช้สำหรับการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเนื้อสัมผัสในอาหารและเครื่องดื่ม มีปริมาณการผลิต 41% มูลค่าประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม และกลุ่มที่สี่ คือ แป้งดัดแปรที่นำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารทางการแพทย์ (Nutrition) ซึ่งมีปริมาณการผลิตประมาณ 3 % มูลค่าของแป้งประเภทนี้อยู่ที่ ประมาณ 100-800 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นอยู่กับการนำไปทำอาหารทดแทนประเภทไหน
อย่างไรก็ดีทิศทางการผลิตของบ้านโป่งทาปิโอก้า คือ ขยายสัดส่วนการผลิตและการตลาด สินค้าในกลุ่ม High Value Food Texture Solution และ Nutrition ให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายว่าจะเป็นสินค้าหลักของบริษัทในอนาคต