จากความสำเร็จในการจัดงาน SPACE-F Accelerator Demo Day ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 กลับมาอีกครั้งกับงาน “ SPACE-F Batch 4 Incubator Demo Day” กิจกรรมการนำเสนอสุดยอดผลงานด้านเทคโนโลยีอาหารของสตาร์ทอัพภายใต้โปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กับ บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย และบริษัท ล็อตเต้ ไฟน์ เคมิคอล จำกัด
การจัดงานครั้งนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ได้นำ 10 สตาร์ทอัพจากโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพขึ้นเวที เพื่อนำเสนอผลงานแก่นักลงทุน และผู้ที่สนใจในนวัตกรรมด้าน FoodTech โดยสตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ผ่านการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ และพัฒนาโซลูชั่นให้มีความเฉียบคมยิ่งขึ้น พร้อมออกสู่ตลาด รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการระดมเงินทุนในระดับ Series A และ Seed Funding
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “NIA ในฐานะผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม หรือ Focal Conductor มุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบอย่างยั่งยืนต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้แนวคิด Create the Dot – Connect the Dot – Value Creation ผ่านกลยุทธ์ “2 ลด 3 เพิ่ม” ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดอุปสรรคการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม
โครงการ SPACE-F นับเป็นแพลตฟอร์มเริ่มต้นสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และด้วยความร่วมมือของผู้สนับสนุนของโครงการ เราสามารถกระตุ้นนวัตกรรมและสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยสนับสนุนให้กับสตาร์ทอัพเติบโต ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นของสตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการเติบโตของสตาร์ทอัพ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในระดับโลกอีกด้วย”
ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยนเชื่อว่าโครงการ SPACE-F จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้มีความยั่งยืนอย่างมีนัยยะ และสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมการนำเสนอในงานในปีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่การนำผลผลิตรองมาผ่านกระบวนการเพื่อเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไปจนถึงการนำเสนออาหารทางเลือกแห่งอนาคต อย่างผลิตภัณฑ์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ”
สำหรับสตาร์ทอัพ 10 ทีมในโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ประกอบไปด้วย
BIRTH2022 : เครื่องดื่มกาแฟสกัดเย็นจากเมล็ดกาแฟหมักด้วยแบคทีเรียโพรไบโอติก ที่มีส่วนช่วยให้มีรสชาติที่แตกต่าง มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเก็บรักษาได้นานขึ้น
ImpactFat : ไขมันปลาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ อุดมไปด้วยสารอาหาร โอเมก้า 3 และไม่มีกลิ่นคาวปลา และสามารถช่วยเสริมรสชาติของอาหารได้ดียิ่งขึ้น
Marinas Bio: อาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ เน้นวัตถุดิบที่เป็นอาหารทะเล เช่น ไข่ปลาคาร์เวีย และ ไข่ปลาแซลมอน ที่ไม่สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Mycovation: นำเสนอวัตถุดิบอาหารรูปแบบใหม่จากรากเห็ดที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการหมัก
NutriCious: เครื่องดื่มไข่ขาวแคลอรี่ต่ำเพื่อสุขภาพ รสชาติดี และอุดมไปด้วยสารอาหารจากนม และโปรตีน
Plant Origin: ผลิตภัณฑ์ไข่ทดแทนจากโปรตีนรำข้าว
Probicient: เบียร์โพรไบโอติกเจ้าแรกของโลก ทางเลือกของเครื่องดื่มสังสรรค์ที่ให้ผลดีต่อสุขภาพ
The Kawa Project: ผงโกโก้ทดแทนจากกากกาแฟ ที่มีรสชาติและรสสัมผัสที่ไม่แตกต่างจากต้นฉบับ มีราคาที่ถูกกว่า และสามารถนำไปประยุกต์ได้หลากหลาย
Trumpkin: ชีสทางเลือกที่ผลิตจากเมล็ดฟักทอง สามารถทดแทนชีสจากผลิตภัณฑ์นม
Zima Sensors: เซ็นเซอร์ตรวจจับการรั่วไหลของอากาศในบรรจุภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบการรั่วไหลได้อย่างต่อเนื่อง
รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการวิจัย ที่สนับสนุนทรัพยากร เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาให้แก่ผู้ประกอบการด้าน FoodTech ว่า มหาวิทยาลัยมหิดลริเริ่มโครงการ Mahidol Pre-incubation for SPACE-F เป็นโครงการบ่มเพาะทีม Startup ที่มาจากการรวมตัวของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการติวเข้มในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์และตลาด การจัดทำแบบจำลองธุรกิจและแผนพัฒนาธุรกิจ รวมถึงทักษะการเป็นผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน
“หนึ่งในสตาร์ทอัพที่นำเสนอผลงานในวันนี้ นับเป็นผลงานจากโครงการ Mahidol Pre-incubation for SPACE-F เช่นกัน ทางมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งใจที่จะสนับสนุน และยินดีต้อนรับสตาร์ทอัพที่มีความสนใจในการพัฒนาโซลูชั่นด้านอาหาร เพื่อเข้าร่วมโครงการในปีถัด ๆ ไป”
ด้าน คุณต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เน้นถึงบทบาทสำคัญของโครงการ SPACE-F ที่มีส่วนในการเชื่อมโยงนวัตกรรมต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับนวัตกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มในระดับโลก “ไทยเบฟมองว่าโครงการ SPACE-F นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงการสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ รวมถึงการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อม”
ด้วยความสำเร็จของสตาร์ทอัพทั้ง 4 รุ่น โครงการ SPACE-F นับเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้เข้าถึงการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในวงการ การเชื่อมโยงทางธุรกิจ และพื้นที่ทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเหล่านั้นสามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร (FoodTech) และนวัตกรรมในระดับสากล
สำหรับสตาร์ทอัพที่สนใจ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สามารถสมัครเข้าร่วมในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 เพื่อเข้าสู่เครือข่ายของกลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหาร และรับโอกาสในการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ร่วมงานกับเพื่อนร่วมโครงการที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน และเข้าถึงทรัพยากรที่มีคุณค่า ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ ดูรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.space-f.co