จิสด้าจัดสัมมนา เปืดตัว AIP แพลตฟอร์มประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสนับสนุนผู้กำหนดนโยบายและหน่วยปฏิบัติในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่
. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดงานสัมมนา “Empowering Policy Makers with Spatial intelligence” เปิดตัวนวัตกรรม AIP ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะมาช่วยสนับสนุนผู้กำหนดนโยบายในทุกระดับเพื่อนำข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์และประมวลผลสำหรับการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยงานจัดขึ้น ณ CDC Crystal Grand Ballroom กรุงเทพฯ
. ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า นวัตกรรม AIP พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา THEOS-2 โดยมีพื้นที่นำร่อง 2 พื้นที่ คือ EEC และจังหวัดน่าน ซึ่ง AIP ไม่ได้เป็นเพียงระบบแสดงข้อมูลแผนที่ แต่เป็น Platform ในการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสนับสนุนผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยปฏิบัติในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ในด้านต่างๆที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการเกษตร ด้านน้ำ ด้านภัยพิบัติ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการเมือง ซึ่ง AIP จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายมองเห็นถึงสถานการณ์และมิติของปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ผ่านการสร้างดัชนีชี้วัดที่จะจำลองสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และผลกระทบ รวมถึงสามารถเลือกแผนการรับมือที่เหมาะสมและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ นวัตกรรม AIP ณ ปัจจุบัน เราได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานไปสู่การจำลองสถานการณ์ climate change ทั้งประเทศด้วย
. ด้าน ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ กล่าวเสริมว่า งานครั้งนี้ GISTDA ยังได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร 7 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมอุตุนิยมวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในการประยุกต์ใช้ AIP เพื่อผลักดันนโยบายด้านการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยลดความเสียหายและเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวของเกษตรกรในประเทศไทย รวมถึงจะเป็นเครื่องมือที่ยกระดับการกำหนดนโยบายของประเทศไทย ช่วยสร้างนโยบายจากข้อเท็จจริง และหลักฐานเชิงประจักษ์ในพื้นที่ ทำให้สามารถกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของพื้นที่อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
. ซึ่งงานวันนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มากกว่า 20 หน่วยงานเข้าร่วม และได้รับเกียรติจาก คุณบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Driving Intelligent Policy Making” ถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ นอกจากนี้ สทนช. ยังเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะนำ AIP ไปใช้งานในการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของการพัฒนา AIP ต่อไป