กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมจัดสัมมนาและนำเสนอนิทรรศการผลงานเด่นเพื่อยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการไทยสู่ระดับสากล ในงาน “Thailand Lab International 2023 งาน Bio Asia Pacific และงาน FutureCHEM INTERNATIONAL 2023”
วันนี้ ( 6 กันยายน 2566) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ภายในงาน “Thailand Lab International 2023 งาน Bio Asia Pacific และงาน FutureCHEM INTERNATIONAL 2023” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เปิดเวทีสัมมนาวิชาการ ที่มีประโยชน์กับห้องปฏิบัติการในประเทศไทย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาทั้งจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษากว่า 80 คน ทั้งนี้การสัมมนาอยู่ภายใต้ 3 หัวข้อหลัก หัวข้อแรก คือ “การจัดการความเสี่ยงของผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (Risk management for Proficiency Testing Providers :PTPs)” โดยมีนางจันทรัตน์ วรสรรพวิทย์ และ นายกิจติศักดิ์ ยศอินทร์ เป็นวิทยากร เนื่องจากปัจจุบัน ISO 17043 มีการอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่ วศ. ในฐานะหน่วยรับรองระบบงาน จึงจัดสัมมนาดังกล่าวขึ้นเพื่อให้ห้องปฏิบัติการมีความรู้ความเข้าใจ และเตรียมตัวสำหรับการยื่นขอการรับรองได้อย่างถูกต้อง ตามข้อกำหนด ISO 17043 หัวข้อต่อมาคือ “การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัสเพื่อขอการรับรอง ISO 17025 : 2017 (Development of Sensory Laboratory for accredited ISO17025:2017)” มีนายยุทธภูมิ สัมพันธารักษ์ เป็นวิทยากร ซึ่งห้องปฏิบัติการทดสอบจำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือ โดยการจัดทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO 17025:2017 โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัส ซึ่งจะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมของหน่วยงานรับรอง ดังนั้นจำเป็นต้องศึกษาและจัดทำข้อมูลเพื่อให้สามารถยื่นขอการรับรองได้
และหัวข้อสุดท้ายคือ “การสัมมนาในยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการตาม ESPReL checklist ในรูปแบบ Peer Evaluation (The enhancement of laboratory safety according to ESPReL checklist by Peer Evaluation)” โดยมีนางสาวดวงกมล เชาวน์ศรีหมุด เป็นวิทยากร เป็นการให้ความรู้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานที่ต้องเจอกับความเสี่ยงทุกวัน โดยเฉพาะ สารเคมีอันตรายต่างๆ ทั้งนี้ในปี 2565 วศ. ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดทำโครงการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยในรูปแบบ Peer Evaluation ให้กับห้องปฏิบัติการในหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เพื่อพัฒนาและเสนอแนวทางในการใช้ห้องปฏิบัติการอย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ในงาน Thailand Lab International 2023 วศ. ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ การนำเสนอบทบาทของ วศ. ด้านการรับรองงานห้องปฏิบัติการ โดย กองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้รับการยอมรับร่วมในระดับภูมิภาคจากองค์การภูมิภาคเชียแปซิฟิก ว่าด้วยการรับรองระบบงาน (APAC) และในระบบสากลจากองค์การค้าระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (ILAC) ใน 3 ขอบข่ายงาน คือ การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ การรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ และการรับรองผู้ผลิตวัสดุอ้างอิง กองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ นำเสนอความสามารถในการพัฒนาตัวอย่างทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ในรายการของ Mercury (Hg) in water ที่มีระดับความเข้มข้นต่ำมาก ๆ ให้มีความคงตัวได้นานขึ้น โดยมีอายุการใช้งานได้นานถึง 6 เดือน
และกองตรวจและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ นำเสนอการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน : ผลิตภัณฑ์วัสดุสัมผัสอาหาร จากธรรมชาติ ได้แก่ ภาชนะกาบหมาก หลอดกระจูด และหลอดราโพ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้าน BCG และนโยบายลด ละ เลิกใช้พลาสติกแบบ Single-use ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับในงาน Bio Asia Pacific วศ. ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการบทบาทของ วศ.ภายใต้ความร่วมมือในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของประเทศอีกด้วย
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการต่าง ๆ ของ วศ. ได้ที่งาน “Thailand Lab International 2023 งาน Bio Asia Pacific และงาน FutureCHEM INTERNATIONAL 2023” ระหว่าง 6 – 8 กันยายนนี้ ที่ ฮอลล์ EH102-EH104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ