บพข. ผนึกกำลัง สภาดิจิทัลฯ และสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ จัดงาน Thailand Digital Competitiveness Forum 2023 เปิดเวทีโชว์ผลงานแพลตฟอร์ม AI จากนักวิจัยไทยภายใต้ทุน บพข. พร้อมสร้างความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมทางด้านดิจิทัล
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) และ สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIE) จัดงาน Thailand Digital Competitiveness Forum 2023 ณ อาคารสุทธิ ชั้น 4 สภาดิจิทัลฯ เพื่อเปิดพื้นที่ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการลงทุนต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรม AI ผ่านการทำงานร่วมกับนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ที่มารวมตัวกันภายในงาน ภายใต้ทุนสนับสนุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาจาก บพข. ที่ช่วยเร่งรัดให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรมและนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้เร็วยิ่งขึ้น
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า งานในวันนี้ทำให้เกิดการ connect กันระหว่าง บพข. และสภาดิจิทัลฯ ในการร่วมกันสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรื่องดิจิทัลเป็นภารกิจที่มีความสำคัญ และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของ บพข. ซึ่งที่ผ่านมา บพข. ได้สนับสนุนทุนวิจัยภายใต้แผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อพัฒนานวัตกรรม ต่อยอดงานวิจัยทางด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร สุขภาพและการแพทย์ ที่ประกอบด้วย ยา สาธารณสุข และอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ เป็นต้น
และในปี 2566 – 2570 นี้ บพข. มีแผนที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่มีศักยภาพในระดับสากล และตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ การเกษตรและอาหาร ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการภาครัฐ และยกระดับภาคการศึกษาไทย โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมตามแผนด้าน ววน. ของประเทศ
ด้าน ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. กล่าวว่า “งานหลักของ บพข. คือการมุ่งเน้นสร้างรายได้ สนับสนุนทุนเพื่อทำให้งานวิจัยเกิดมูลค่าและสามารถนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ให้ได้ ซึ่งดิจิทัลนั้นเป็น enabler สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นเป้าหมายของ บพข. ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพและการแพทย์ อาหารมูลค่าสูง การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การคมนาคม พลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้างมูลค่าและสร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจ สำหรับแนวคิดในการทำงานของแผนงานดิจิทัล บพข. เราตั้งเป้าที่จะนำเอา ecosystem ของเราไปสู่ global เรามองว่างานด้านดิจิทัลนั้นมีที่ตลาดกว้างมาก เราจะมองแต่ในประเทศไม่ได้เพราะตลาดบ้านเราค่อนข้างเล็ก ดังนั้นเราจะต้องทำให้ไปสู่ global ให้ได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญในการผลักดันไปสู่ global นั้นประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและเชี่ยวชาญในด้านดิจิทัล นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และปัจจัยสุดท้ายคือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเชิงลึกและความสามารถที่จะขยายขนาดการผลิตได้ โดย บพข. ได้มุ่งเน้นสนับสนุนทุนในการวิจัยพัฒนากลุ่ม Smart devices, AI – Algorithms, หุ่นยนต์, ระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการทางด้านดิจิทัล เป็นหลัก”
ทั้งนี้ในงาน ได้เปิดโอกาสให้นักวิจัยที่ได้รับทุนจาก บพข. นำเสนองานวิจัยและนวัตกรรมจากจากเครือข่าย Virtual AI CoE Center of Excellence ของ บพข. ให้กับเครือข่ายสมาชิกของสภาดิจิทัลฯ เพื่อสร้างความร่วมมือ สร้างโอกาสในการต่อยอดงานวิจัยและการร่วมลงทุน ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อไปในอนาคต โดยครอบคลุม 5 กลุ่มเทคโนโลยี AI ประกอบด้วย
กลุ่ม Agriculture & Food อาทิ Sugarcane Portal Platform โดย ศ.ดร.วนิดา แก่นอากาศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แพลตฟอร์มดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์และคลังข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการอ้อยเพื่อสนับสนุนนโยบาย BCG ลักษณะต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ระบบบริหารจัดการโรงงานต้นแบบการแปรรูปอาหาร ที่พัฒนาขึ้นโดย ดร.เอกอนงค์ จางบัว สวทช. ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในลักษณะของ Web Based และ Mobile Application ซึ่งรวบรวมข้อมูลการให้บริการโรงงานต้นแบบแปรรูปอาหารของหน่วยงานเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis Network) และจัดให้มีอุปกรณ์ industrial IoT สำหรับเชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร และ Dronebox แพลตฟอร์มประมวลผลภาพโดรนผ่านระบบคลาวด์ โดย ผศ.ดร.ดวงเดือน อัศวสุธีรกุล เป็นแพลตฟอร์มที่ประมวลภาพโดรนผ่านระบบคลาวด์ในการประมวลผลภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนให้เป็นภาพแผนที่หรือแบบจำลองต่าง ๆ (เช่น แบบจำลองสามมิติ แบบจำลองความสูง) โดยเน้นแนวคิดการใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานโดรนทั่วไปและกลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมาย (กลุ่มอุตสาหกรรมเหมือนแร่และก่อสร้าง)
ส่วนกลุ่ม Healthcare & Precision Medicine อาทิ แพลตฟอร์ม กิน อยู่ ดี โดย รศ.วิรุฬห์ ศรีบริรักษ์ มหาวิทยาลัยบูรพา แพลตฟอร์มทางด้านสุขภาพและการแพทย์แบบครบวงจร อาทิเช่น Personal Care & Family Care, 24/7 Care Center Operation Platform, Dataset & AI Model Training Studio และยังมีแพลตฟอร์ม Federated AI และ Drug discovery ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ และ ผศ.ดร.ภก.จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบบปัญญาประดิษฐ์แบบสหพันธรัฐแบบอัตโนมัติสำหรับรูปภาพทางการแพทย์ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาแบบจำลอง AI แบบเฉพาะเจาะจงไปที่โรคชนิดต่างๆ เพื่อให้สถาบันการแพทย์สามารถแชร์ผลการฝึกฝนระบบปัญญาประดิษฐ์ของตนเอง ทำให้ระบบกลางมีความสามารถและแม่นยำสูงขึ้น และแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สำหรับการคิดค้นและค้นหายาใหม่ พร้อมฐานข้อมูลด้านสมุนไพรและสารเคมี
กลุ่ม Technology and Infrastructure อาทิ Security and safety platform in Smart City โดย ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็น PSU AI Platform สำหรับการประยุกต์ใช้งานทางด้าน public safety โดยทดสอบในพื้นที่ Sandbox ของตำรวจ เพื่อเชื่อมต่อความต้องการของลูกค้า (ภาครัฐ) ในการทำให้ระบบสามารถแสดงผลหรือส่งผลเข้าสู่กระบวนการการปฏิบัติงานจริงของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Operation Unit) ได้อย่างไร้รอยต่อ PSU AI Platform มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของ 3rd party ทำให้เป็นแพลตฟอร์มกลางให้กับนักวิจัยไทยหรือภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ เพื่อให้ feature ของการทำงานสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน ด้านศักยภาพของสถาปัตยกรรมของ PSU AI Platform ทำให้เราสามารถทำงานประมวลผลงานพื้นฐานอย่างเช่น LPR ได้ภายในเวลา 0.09 วินาที บนฐานข้อมูลไม่น้อยกว่า 1 ล้านชุดข้อมูล และยังมี APEX GPU Cloud platform ของ ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร จากมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เป็นแพลตฟอร์มและสถาปัตยกรรมข้อมูลระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลขนาดใหญ่จากโครงการวิจัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลจากงานวิจัย และให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยี Machine Learning และ Deep Learning
กลุ่ม Robotic and Automation ได้แก่ ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับการทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ โดย ผศ.ดร.เอกชัย เป็งวัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีระบบบูรณาการสมบูรณ์สำหรับการทำความสะอาดสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบด้วย หุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับการติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) และระบบประมวลผลและแสดงผลเซนเซอร์สภาพแวดล้อมสำหรับหุ่นยนต์ทำความสะอาด เพื่อปรับชุดคำสั่งสำหรับการเริ่มทำงาน หรือการเคลื่อนที่ซ้ำบริเวณที่ต้องทำความสะอาดเป็นพิเศษ และ CiRA CORE แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ สำหรับการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาโมดูล Deep Learning ช่วยวิเคราะห์ภาพ 3D เพื่อประเมินตำแหน่ง 3D pose estimation ของชิ้นงาน เพื่อให้หุ่นยนต์ (Industrial Robots เช่น KUKA, Yaskawa, UR3) รับรู้ตำแหน่งและหยิบชิ้นงานได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งวิจัยและพัฒนาขึ้นโดย รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
กลุ่ม Digital Services ประกอบด้วย แพลตฟอร์มน้องพอใจ โดย ผศ.ดร.อรทัย สังข์เพ็ชร มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ซึ่งเป็นระบบรู้จำเสียงภาษาไทยอัตโนมัติเพื่อใช้ในการลงทะเบียนสินค้าบนแอพพลิเคชันขายออนไลน์ รวมถึงระบบซอฟต์แวร์ที่นำเข้าข้อมูลเสียงภาษาไทยและภาษาถิ่นเพื่อนำไปสอนอัลกอริทึมและสร้างเป็นคลังข้อมูลสาธารณะ นอกจากนี้ยังมี แพลตฟอร์มการรู้จำเสียงพูด โดย ดร.สุรศักดิ์ บุญกล้า สวทช. เป็นระบบรู้จำเสียงพูดที่สามารถถอดความเสียงพูดโดยไม่จำกัดผู้พูดและไม่จำกัดเนื้อหา โดยมีความถูกต้องเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 80 ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่มีสัญญาณเสียงรบกวนและการสนทนาแบบไม่มีการซ้อนทับกัน รองรับภาษาไทยกลางและสำเนียงภาคกลาง และอีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจคือ OpenThaiGPT โมเดล Chat ภาษาไทยแบบ Large Language Models (LLMs) ที่เป็นโมเดลปัญญาประดิษฐ์ภาษาไทยขนาดใหญ่แบบ Auto-Regressive และฐานข้อมูลการตอบคำถามภาษาไทยที่มีคุณภาพสูง โดยสามารถโต้ตอบในบทบาทผู้ช่วยในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ ทั้งยังสามารถเรียนรู้การทำสิ่งใหม่ โดยการแสดงตัวอย่างเบื้องต้นได้ พร้อมทั้งเชื่อมต่อกับองค์ความรู้ภายนอก หรือให้เจ้าของธุรกิจสอนข้อมูลเพิ่มเติม และยังมีองค์ความรู้ด้านประเทศไทยและใช้ภาษาไทยจนสามารถทำข้อสอบ O-Net ได้เบื้องต้น ซึ่งโมเดลนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดย ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย
ผลงานที่นำมาเสนอในครั้งนี้ล้วนเป็นโครงการที่ได้ผ่านการคัดเลือกแล้วว่ามีความน่าสนใจและตอบโจทย์การสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้กับประเทศในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านอาหารและการเกษตร รวมทั้งโครงพื้นฐานและการบริการด้านดิจิทัล ซึ่งหากได้รับการต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทยเพื่อเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกได้ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือจาก 6 เครือข่ายมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาในหลักสูตรเกี่ยวกับ AI ได้เข้าฝึกงานกับสมาชิกและเครือข่ายสภาดิจิทัลฯ และต่อยอดความร่วมมือไปสู่การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ หรือ Center of Excellence (CoE) ด้าน AI ตามพันธกิจของเสา 5 Regional Innovation Hub ของสภาดิจิทัลฯ