สจล.จับมือดีป้าและสยามอินโนฯ พัฒนา ‘Re-Fill City’ แอปพลิเคชั่นต้นแบบ หาจุดเติมน้ำฟรี – ลดขยะพลาสติก คว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีการแข่งขัน Presidential Hackathon 2023 ที่ไต้หวัน พร้อมนำร่องใช้จริงในพื้นที่เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) และสตาร์ทอัพ สยามอินโนซิตี้ รวมเป็นทีมประเทศไทยสุดปัง คว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีการแข่งขัน Presidential Hackathon 2023 ที่ไต้หวัน ท่ามกลาง 60 ทีมจากนานาประเทศ ด้วยผลงานนวัตกรรม ‘Re-Fill City’ แอปพลิเคชั่นต้นแบบ หาจุดเติมน้ำฟรี – ลดขยะพลาสติก แพลตฟอร์มรณรงค์ให้ทุกคนในเมืองนำขวดน้ำพกพาของตนเองเพื่อเติมน้ำดื่มได้รอบเมือง นำร่องใช้จริงในพื้นที่เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช หนึ่งในเมืองอัจฉริยะต้นแบบ คาดเป็นโมเดลสำหรับเมืองอื่นๆของไทยในอนาคต
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ทีมประเทศไทย ประกอบด้วย ผศ. ดร.รัชนี กุลยานนท์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ภาสกร ประถมบุตร และ ดร.นน อัครประเสริฐกุล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล (Depa) พรชัย เอี่ยมสุกใส และ สถาพร จุลศิลป์ สตาร์ทอัพ บริษัท สยามอินโนซิตี้ จำกัด คิดค้นนวัตกรรมแอปพลิเคชั่น ‘Re-Fill City’ ภายใต้แนวคิด Green and Sustainable City เพื่อส่งเสริมการใช้ขวดน้ำพกพาเพื่อลดปริมาณขยะแทนการซื้อน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาดสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งแนวคิดนี้เป็นโครงการที่ริเริ่มจากความต้องการของผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองนครศรีธรรมราช และเป็นการสร้างธุรกิจแบบ Social Enterprise ที่สามารถส่งเสริมมีรายได้อย่างมั่นคง ในขณะที่เมืองและประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด
ทีมประเทศไทยได้สร้างผลงานระดับโลก ‘Re-Fill City’ คว้ารางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ ใน ‘การแข่งขันแฮกกาธอน Presidential Hackathon International Track 2023’ จากประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ณ ทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งจัดโดยกระทรวงดิจิทัลแห่งไต้หวัน นับเป็นเวทีการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่และทรงเกียรติ งานปีนี้ภายใต้ธีม Free the Future: Open, Digital and Green มุ่งตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals, SDGs) โดยมีจำนวน 60 ทีมจาก 30 ประเทศทั่วโลกเข้าแข่งขัน ความสำเร็จของทีมไทยสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจแก่ประเทศ ตอกย้ำถึงศักยภาพของคนไทยในเวทีโลก สะท้อนพลังความมุ่งมั่นของ สจล. สู่ ‘ผู้นำแห่งนวัตกรรมระดับโลก’ (The World Master of Innovation) เพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาของประเทศในพื้นที่ต่างๆ และสนองตอบความต้องการทางสังคม กระตุ้นโอกาสความร่วมมือระหว่างประเทศ ระหว่างวงการ และระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้มีโอกาสสื่อสารแลกเปลี่ยนและสร้างประโยชน์แก่ชุมชน คนไทย และมนุษยชาติ ทั้งเติมเต็มคุณค่าของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นแนวโน้มการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนทั่วโลกมากยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) กล่าวว่า จุดเด่นของนวัตกรรม แอปพลิเคชั่น Re-Fill City นี้เป็นฐานข้อมูลให้ผู้บริโภคสามารถหาตำแหน่ง ‘จุดเติมน้ำดื่มสะอาดฟรี’ ซึ่งโครงการติดตั้งให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงร้านค้าได้มากขึ้น รวมถึงสถานที่ขายเครื่องดื่มน้ำตาลต่ำในเมือง และให้คะแนนกับห้างร้านต่างๆ ที่เติมน้ำดื่มสะอาดฟรีแก่ผู้บริโภค โดยคะแนนเหล่านี้ร้านค้าสามารถนำไปแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้จากเมืองและพันธมิตรภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ทางร้านค้าที่ให้บริการน้ำดื่มฟรี อาจจะให้ ‘ส่วนลดสำหรับอาหารและบริการ’ แก่ผู้ที่เข้ามารับบริการ เป็นแรงจูงใจให้มาซื้อสินค้าและใช้บริการ เป็นการเพิ่มรายได้ให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งส่งเสริมการเป็นเมืองอัจฉริยะ(Smart City) เพิ่มพลังความเกื้อกูลและร่วมมือ ลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติกเพื่อเมืองที่น่าอยู่ของทุกคนได้อีกด้วย
ทั้งนี้ สจล. ดีป้าและสยามอินโนซิตี้ ได้สร้างต้นแบบนวัตกรรม ‘Re-Fill City’ มิใช่เพื่อคนไทยเท่านั้นแต่เพื่อโลกของเราด้วย เกิดประโยชน์กับทั้งผู้บริโภคและการส่งเสริมความเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมไปกับผลดีต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญและใช้พหุศาสตร์หลายสาขา ได้แก่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิทยาการคอมพิวเตอร์ มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม การออกแบบ และความยั่งยืน สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและมีความยืดหยุ่น ขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนถึงความสำคัญของประเด็นการจัดการขยะพลาสติกและส่งเสริมสุขภาพ ซึ่ง ‘Re-Fill City’ ตอบโจทย์ได้อย่างดี
ปัจจุบันโครงการได้นำร่องใช้จริงในพื้นที่เทศบาลเมืองนครนครศรีธรรมราช หนึ่งในเมืองอัจฉริยะต้นแบบของไทย และคาดว่าในอนาคตจะสามารถขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆของประเทศ ทั้งนี้แผนงาน เฟสที่ 1 เทศบาลเมืองจะมีโปรแกรมคืนกำไรให้กับร้านค้าที่ให้บริการน้ำดื่ม เฟสที่ 2 ใช้เทคโนโลยี และ เอ.ไอ.วิเคราะห์ปริมาณน้ำดื่มที่แจกได้ ส่วนเฟสที่ 3 จัดทำ QR Code สมาชิกผู้มาใช้บริการ และต่อยอดโครงการอื่น ๆ อีกด้วย