“ศุภมาส อิศรภักดี” รมว.อว. ร่วมเปิดประชุม “STS Forum 2023” เวทีหารือนโนบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ประเทศญี่ปุ่น ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมนำเสนอเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญทั้งเทคโนโลยีสีเขียว นวัตกรรมรับมือโลกร้อน พลังงาน และ AI
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมทีมผู้บริหารและนักวิจัยของกระทรวง อว. เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคม ครั้งที่ 20 (Science and Technology in Society: STS forum 2023) ภายใต้กรอบแนวคิด “Lights and Shadows of Science and Technology” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่1-3 ต.ค. 2566 โดยเป็นเวทีหารือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
จากนั้น น.ส.ศุภมาส ได้เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T Ministers’ Roundtable Meeting) ในประเด็น “Open Science and International Brain Circulation” โดยประเทศไทยได้นำเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริมเทคโนโลยีสีเขียว สร้างนวัตกรรมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยีได้นำความเจริญก้าวหน้าและสะดวกสบายมาสู่มวลมนุษยชาติ แต่ก็ยังซึ่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาดังกล่าว โดยที่ประชุมได้เห็นพ้องร่วมกันในการร่วมมือแก้ไขปัญหาของโลกดังกล่าว เพื่อความผาสุกและอนาคตที่ยั่งยืน
โดยในการประชุม น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มุ่งเน้นการผสานกำลังจากหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย ร่วมกับพันธมิตรจากภาคเอกชนและประชาชนประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านนโยบายเศรษฐกิจ BCG โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงานสะอาด เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจ สร้างสรรค์ ความเป็นกลางทางคาร์บอน การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะสามารถร่วมตอบโจทย์ประเด็นสำคัญของโลกในปัจจุบันได้
“การจะก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาคมโลก ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Big Data เป็นเครื่องมือ โดยกระทรวง อว. เอง พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศ เพิ่มศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เป็นตัวกลางเชื่อมภาควิชาการและอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการดำเนินงานดังกล่าว” น.ส.ศุภมาส กล่าว
ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้เป็นผู้ติดตาม รมว.อว. ให้เข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลในการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการหารือด้าน “Open Science and International Brain Circulation” และยังได้เป็นผู้ติดตามในการหารือทวิภาคีกับผู้บริหารของ Japan Science and Technology Agency (JST) ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับการประชุมทวิภาคีร่วมกับ JST เป็นการแลกเปลี่ยนหัวข้อความสนใจและผลักดันความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องต่อการพัฒนาประเทศ เช่น พลังงานสีเขียว (green energy) การเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ (pandemic) รวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการจัดการข้อมูล (big data) โดย สวทช. ได้เน้นย้ำการสนับสนุนโครงการ East Asia Science and Innovation Area Joint Research Program (e-ASIA JRP) ที่มีสำนักงานเลขานุการโครงการตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช.
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สวทช. ยังได้เข้าร่วมในการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในงาน STS Forum อาทิ การหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารหน่วยงานวิจัยทั่วโลกในเวที 12th Global Summit of Research Institute Leaders (RIL 2023) การได้รับเกียรติให้บรรยายในเวที Cooperation in S&T: Collaboration among Academia, Industry and Government ซึ่ง สวทช. ได้เน้นย้ำการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ โดยยกตัวอย่าง เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ที่ สวทช. ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้เป็นผู้เชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม และการเข้าร่วมประชุม The 13th Funding Agency Presidents’ Meeting (FAPM) ที่เป็นการประชุมระดับนโยบายของหน่วยงานให้ทุนวิจัย ซึ่ง สวทช. เข้าร่วมในมุมมองหน่วยงานที่ประสบการณ์การบริหารจัดการทุนวิจัย
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กล่าวว่า “ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมไปถึงการทำงานร่วมกันในระดับนานาชาติ เพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาดใหม่ วิกฤติด้านพลังงาน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน การนำทีมประเทศไทยโดยท่านรัฐมนตรีฯ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ สวทช. ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมการประชุมเป็นอย่างมาก หน่วยงานพันธมิตรที่ สวทช. มีความร่วมมือมาเป็นเวลานานอย่างเช่น JST ได้รับทราบและเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลไทยในการทำงานเพื่อความยั่งยืนร่วมกัน”