นับถอยหลัง…“ THEOS-2 ” ขึ้น สู่วงโคจร

News Update

“ศุภมาส อิศรภักดี ” รัฐมนตรี อว.นำทีมตัวแทนรัฐบาลไทย  เปิดปฏิบัติการปล่อยดาวเทียมสำรวจโลก “THEOS-2”  สู่วงโคจรด้วยจรวดนำส่ง VEGA จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา เช้าวันเสาร์ 7 ต.ค.นี้   เวลา 08.36 น. พร้อมชวนคนไทยชมการถ่ายทอดสดร่วมนาทีประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทย

            เมื่อ 6 ตุลาคม 2566  นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยระหว่างการปฎิบัติภารกิจในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ณ เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 (Thailand Earth Observation Satellite 2)  ขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา ว่า  ในวันที่ 7 ต.ค.นี้  เวลา 08.36 น. ตามเวลาในประเทศไทย จะเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของวงการอวกาศของประเทศไทย  เพราะดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 จะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวดนำส่ง VEGA จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เพื่อเริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก

              ทั้งนี้หลังจากปล่อยดาวเทียมในเวลา 08:36 น.แล้วจะใช้เวลากว่า 54 นาที ในการเข้าสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 621 กิโลเมตร เมื่อดาวเทียมขึ้นไปแล้ว จะต้องทดสอบระบบในอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินราว ๆ 3 เดือน ก่อนจะใช้งานได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีสถานการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น อาทิ ภัยพิบัติ THEOS-2 ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้ภายใน 5 – 8 วัน หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร

              “ การนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับอนาคตของประเทศไทย เพราะเป็นการนำส่งดาวเทียมที่จะนำมาสู่การยกระดับรูปแบบการพัฒนาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น ตนขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ด้วยการชมการถ่ายทอดสดการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 7 ต.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 07.00 – 09.30 น. ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : https://www.facebook.com/gistda และผ่านยูทูบ :  https://www.youtube.com/c/GISTDAspace รวมถึงเฟซบุ๊คเพจกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม : https://www.facebook.com/MHESIThailand โดยจะมีวิศวกรดาวเทียมจากอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ร่วมให้ความรู้ตลอดรายการ”

               สำหรับดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงใหม่ของประเทศไทย ซึ่งกระทรวง อว.โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า  จัดทำขึ้นเพื่อสานต่อภารกิจของดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) หรือดาวเทียม THEOS-1 ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทย    ที่ได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 และปฏิบัติภารกิจมาเป็นเวลากว่า 15 ปี  และกำลังจะหมดอายุการใช้งานลง

              โดยดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นดาวเทียมสำรวจโลก ดวงแรกของประเทศไทยที่มีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน และข้อมูลจากดาวเทียมจะถูกใช้ในการปรับปรุง (Update) ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียดและถูกต้อง ช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ในการจัดการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การจัดการภัยธรรมชาติ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

                ข้อมูลจาก THEOS-2 นี้ GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อจะได้นำไปต่อยอดหรือการบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันเพื่อขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนักพัฒนานวัตกรรมทุกระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน startup  SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ตามนโยบายของ อว. ที่มุ่งเน้นในการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศ

              สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับดาวเทียม THEOS-2  “ดร.พรเทพ  นวกิจกนก” ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ THEOS-2  ได้กล่าวไว้ในงานแถลงข่าวความพร้อมของดาวเทียม THEOS-2 ก่อนขึ้นสู่อวกาศ   “THEOS-2 : Shaping Thailand’s Future from Space, Our Commitment” ว่า  มี 10 ตัวเลขสำคัญเกี่ยวกับ  THEOS-2 

               ตัวแรกคือเลข “ 2”  ซึ่ง ดาวเทียม THEOS-2  คือดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ดวงที่ 2 ของประเทศ เลขต่อมาคือ “621” ซึ่งหมายถึง ระยะห่างจากพื้นโลกถึงวงโคจรที่ THEOS-2  อยู่ ห่างกัน 621 กิโลเมตร ซึ่งจัดเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ

                ตัวเลขที่3 คือ “5” หรือน้ำหนักของดาวเทียม THEOS-2   ซึ่งหนัก 5 กิโลกรัม  ตัวเลขที่ 4  คือ  “10.3”   เป็นระยะความกว้างของภาพตลอดแนวการถ่ายภาพ ซึ่งกว้างได้ถึง 10.3 กิโลเมตร  ตัวเลขที่ 5 คือ  “50” หรือ  50 ซม.ที่เป็นความละเอียดของภาพถ่ายที่ได้จากดาวเทียม THEOS-2    ตัวเลขที่ 6 คือ “10” หมายถึง อายุการใช้งานของดาวเทียมดวงนี้ที่มีอายุ 10 ปี

              ส่วนตัวเลขที่ 7 คือ  “26”  ซึ่งดาวเทียมจะวนกลับมาถ่ายภาพซ้ำที่เดิมทุก 26 วัน   ตัวเลขที่8 คือ  “ 4” หรือดาวเทียมจะโคจรผ่านประเทศไทย 4 รอบต่อวัน โดยเป็นกลางวัน 2 รอบกลางคืน 2 รอบ ตัวเลขที่ 9 คือ “1” ซึ่งเป็นดาวเทียมหนึ่งเดียว ที่เป็นดาวเทียมรายละเอียดสูงมากดวงแรกของประเทศไทย

              และตัวเลขที่ 10 คือ “ 7 ” หรือ 7 ตุลาคม 2566  ซึ่งจะเป็นวันประวัติศาสตร์ ที่ดาวเทียม THEOS-2   ขึ้นสู่วงโคจรในเวลา 8.36  น. ตามเวลาในประเทศไทย