เครือ ปตท. และเอสซีจี เผยกลยุทธ์และแผนลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2030 และ 2050 ตามลำดับ โดย ปตท.สผ.พร้อมลงทุนกว่าหมื่นล้านเพื่อกักเก็บคาร์บอนใต้พื้นทะเลในอ่าวไทย หากได้รับความชัดเจนด้านกฎระเบียบและสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวในงานสัมมนาของการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2023) ว่า ขณะนี้โลกได้ก้าวไปถึงทางแยกสำคัญที่ต้องเลือกระหว่างการเข้าสู่วิกฤติทางสภาพภูมิอากาศโลก กับการเดินเข้าสู่สภาวะความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยปัจจุบันเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture & Storage: CCS) ถือว่าพิสูจน์แล้วว่ามีความเป็นไปได้และมีโครงการ CCS เกิดขึ้นมากกว่า 300 โครงการทั่วโลก
ในส่วนของประเทศไทย หากจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ตามเป้าหมาย จะต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนให้ได้ถึง 40 ล้านปี ซึ่งถือว่าเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะถ้าเทียบกับการปลูกป่า 1 ล้านไร่ จะสามารถลดปริมาณคาร์บอนได้เพียง 1-2 ล้านตันต่อปี
ดังนั้น ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่ปราศจากคาร์บอน ปตท.สผ.จึงมีโครงการทดลองกักเก็บคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย โดยมีเป้าหมายกักเก็บคาร์บอน 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2027 ด้วยเงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และมีผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ จึงอยากให้ภาครัฐมีการกำหนดกลไกทางด้านคาร์บอนเครดิต หรือภาษีคาร์บอน รวมถึงกฎระเบียบที่ชัดเจนในการติดตาม ตรวจสอบคาร์บอนที่กักเก็บ และภาระผูกพันต่าง ๆ ที่จะเอื้อให้โครงการนี้สามารถเกิดขึ้นได้
นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี กล่าวว่า กรอบทางด้านกฎหมายและสิทธิประโยชน์มีความสำคัญมาก ที่จะช่วยให้ประเทศและภาคธุรกิจสามารถเปลี่ยนความท้าทายที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นโอกาสได้
ยกตัวอย่างเช่น นอร์เวย์มีโครงการ Northern Lights เพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากประเทศในสหภาพยุโรป หรือกฎหมายการปรับลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนจำนวนมหาศาลสู่สหรัฐฯ
ในส่วนของเอสซีจีตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 25% ภายในปี 2030 จากระดับของปี 2020 ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่มากกว่าเป้าหมายของประเทศไทยและไม่เป็นภาระต่อภาพรวม
ด้าน นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยต้องการจะบรรลุเป้า Net Zero ภายในปี 2050 จะต้องทำ 3 อย่าง ให้สำเร็จคือ 1) เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนจาก 17% เป็น 50% 2) เพิ่มสัดส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจาก 10% เป็น 30% และ 3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 30% ภายในปี 2037
ในส่วนของกลุ่ม ปตท.ตั้งแต่ปี 2020 ถึงปัจจุบันได้ลงทุนไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท ในธุรกิจพลังงานเพื่ออนาคตและอื่น ๆ เช่น การกักเก็บพลังงาน ธุรกิจบนห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานไฮโดรเจน วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ฯลฯ โดยมีเป้าหมายการเติบโตจากธุรกิจสีเขียว (Green Growth) และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 15% ภายในปี 2030 จากปัจจุบันที่ปล่อยอยู่รวม 10 ล้านตันต่อปี
เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2040 และ Net Zero ภายในปี 2050 กลุ่ม ปตท.มีกลยุทธ์ “3 เร่ง” ประกอบด้วย 1) เร่งปรับกระบวนการผลิต 2) เร่งเปลี่ยนธุรกิจสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) เร่งปลูกป่าให้ได้เพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านไร่ จากที่เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ปตท.ได้ปลูกป่าไปแล้ว 1 ล้านไร่ ซึ่งช่วยลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศได้รวม 32 ล้านตัน
“การใช้พลังงานมีส่วนทำให้โลกนี้ร้อนขึ้นอย่างน้อย 70% ของทั้งหมด แต่วันนี้ก๊าซและน้ำมันยังจำเป็น และกว่าจะลดได้อาจจะเลยปี 2030 หรือ 2040 ไปแล้ว” ผู้บริหาร ปตท.กล่าวย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่สังคมไร้คาร์บอน
สำหรับการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2023) นี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน “SX Sustainability Expo 2023” มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน