วันนี้ (พุธที่ 11 ตุลาคม 2566) สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2023 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยกับความผันผวนด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีพลังงานในกระแสภาวะโลกร้อน” เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบนโยบายด้านพลังงาน สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจและพลังงาน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทิศทางของแผนพลังงานชาติ ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทยในการรับมือกับภาวะโลกร้อน รวมถึงการรองรับเทคโนโลยีพลังงานอนาคต เพื่อนำไปใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมให้เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางการแข่งขันในระดับประเทศ ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถือเป็นรากฐานสำคัญ ในการพัฒนาขีดความสามารถ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่พลังงานถือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์พลังงานของประเทศ ต้องเจอกับความท้าทายในการหาทางออกที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีพลังงาน กระแสภาวะโลกร้อนที่ก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด และภาวะความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมไทยและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องร่วมกันปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะมาถึงนี้อย่างเร่งด่วน
ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนแนวทางการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐด้วยดีมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อผลักดันให้มีการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม การส่งเสริมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อมุ่งเน้นการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน (พน.)กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกว่ายังคงมีความผันผวนจากหลายเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดของวิกฤตความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ การขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปีของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอีกหลายแห่งในโลก ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุน สภาพเศรษฐกิจ และต้นทุนพลังงานทั่วโลกได้รับผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับทั่วโลก ที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของทุกภาคส่วนมีการปรับตัวสูงขึ้นตามความผันผวนของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากราคา LNG ปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโลกจากสาเหตุความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งภาครัฐเองก็พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือให้ค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสม ไม่ให้กระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการในการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจนเกินไป อาทิเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ช่วยแบกรับส่วนต่างต้นทุนเชื้อเพลิงในช่วงราคาพลังงานผันผวน การบริหารจัดการเชื้อเพลิงอื่นที่ใช้ผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมในช่วง LNG ราคาสูง เป็นต้น ซึ่งต้องขอบคุณทุกส่วนที่ร่วมมือกันอย่างเต็มที่และทำให้ผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวมาได้
ตัวอย่างเรื่องค่าไฟฟ้าเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในผลกระทบต่อสถานการณ์พลังงานของประเทศ ในอนาคตยังคงมีปัจจัยอื่นๆ อีกรอบด้านที่จะคอยเร่งให้ประเทศ รวมถึงทุกภาคส่วนต้องปรับตัวรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งด้านเศรษฐกิจที่มีความผันผวน นวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานที่มีส่วนเข้ามาผลักดันให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการผลิตด้วยพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านภาวะโลกร้อนที่เข้าสู่ยุคภาวะโลกเดือดที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยปัจจุบันจะเห็นว่าประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น จนประชาคมโลกให้ความสำคัญสูงขึ้นมาก และเริ่มมีการนำนโยบายเชิงบังคับมาใช้อย่างจริงจัง เช่น สหภาพยุโรปที่เริ่มใช้ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เพื่อผลักดันให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตระหนักถึงการปรับตัวดังกล่าว
ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศนำเข้าพลังงาน จำเป็นต้องวางแผนและปรับตัวอย่างมาก โดยสถานการณ์พลังงานของประเทศในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ที่ผ่านมาแนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นสูงขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนในครึ่งปีหลัง จากสภาพเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากประเทศมีรัฐบาลที่มั่นคง ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายพลังงานจากหลากหลายด้าน คาดการณ์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในช่วงสิ้นปีร้อยละ 2.5 ถึงร้อยละ 3 จากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ส่งผลให้แนวโน้มการใช้พลังงานที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นภาครัฐจึงเร่งออกมาตรการช่วยเหลือและส่งเสริมทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น จะมีการปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันและค่าก๊าซให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับส่งเสริมระยะยาวด้วยแผนพลังงานชาติ NEP สอดคล้องกับแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) โดยมีแนวทางสำคัญที่จะเป็นทิศทางด้านพลังงานของประเทศในด้านต่างๆ ดังนี้
- ด้านไฟฟ้า เน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานทดแทน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระบบไมโครกริด ตลอดจนการผลิตเอง ใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลิตเองใช้เองดังกล่าว
- ด้านก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่เป็นพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องวางแผนการสร้างสมดุลระหว่างการจัดหาในประเทศ และการนำเข้า LNG เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหรือ LNG Hub
- ด้านน้ำมัน ยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศในปัจจุบัน แต่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวขึ้น ดังนั้น จะต้องมีการปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง และพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่านการสร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
- ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในทุกภาคส่วนให้มากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่มูลค่าเพิ่มและการจ้างงาน โดยภาครัฐให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวและพัฒนาขีดความสามารถ ภายใต้สภาวะวิกฤตพลังงาน และกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
สำหรับความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยกับความผันผวนด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีพลังงานในกระแสภาวะโลกร้อน จะมีส่วนกระตุ้นให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องด้านพลังงาน เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการร่วมกันพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเร่งยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่ไปกับพัฒนาองค์กรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับกระแสโลกร้อน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน อันนำไปสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป