อว.โดยจิสด้าร่วมกับพันธมิตร จัดงาน สัปดาห์อวกาศแห่งชาติ หรือ Thailand Space Week งานด้านอวกาศระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมผลักดันให้เป็นมหกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศของประเทศ
วันนี้ (25 ตุลาคม 2566 )ที่ Plenary hall ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA และบริษัท ไทยคม จำกัด พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรด้านอวกาศทั้งในและต่างประเทศ จัดงาน Thailand Space Week 2023 หรือ สัปดาห์อวกาศแห่งชาติ ประจำปี 2566 ขึ้น โดยมี “นางสาวศุภมาส อิศรภักดี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน และมีผู้ประกอบการ กลุ่ม startup กลุ่มพัฒนานวัตกรรม ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชนทางด้านวิศวกรรมอากาศยานและการบิน การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน
สำหรับงาน Thailand Space Week ถือเป็นงานด้านอวกาศระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทยที่จะทำให้วงการอวกาศไทยได้รับความสนใจจากทั่วโลก และแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอวกาศ ภายในงานมีการจัดเสวนาโดยผู้นำองค์กรและหน่วยงานด้านอวกาศกว่า 35 sessions speakers ชั้นนำด้านอวกาศจากทั่วโลกมากกว่า 150 คน พร้อมการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศในรูปแบบนิทรรศการกว่า 30 บูธ ที่มารวมตัวกันอยู่ในงานนี้งานเดียว ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของงาน Thailand Space Week คือ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย การพัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากอวกาศ การส่งเสริม Space Business ใน Global Value Chain การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ การวิจัยและพัฒนาด้านอวกาศ และการพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนถึงความพร้อมของประเทศไทยที่จะกำหนดให้อวกาศเป็น New Growth Engine ของประเทศ
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเทคโนโลยีอวกาศ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ เพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ซึ่ง กระทรวง อว. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลมาโดยตลอด
“งาน Thailand Space Week 2023 หรือ สัปดาห์อวกาศแห่งชาติ ถือเป็นงานที่มีความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขั้นสูงของไทย เนื่องจากได้รับทราบจากทาง GISTDA ว่าเป้าหมายหลักของงานในปีนี้คือการนำเสนอการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งในเชิงสังคมและเชิงธุรกิจ รวมถึงบทบาทในด้านต่างๆ ของภาคธุรกิจและเอกชนที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศในมิติต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่ม startup ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งในและต่างประเทศที่ตอบรับร่วมงานเป็นจำนวนมากที่จะใช้โอกาสจากงานนี้ในการแลกเปลี่ยนและ Update ข้อมูลด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศของโลกในปัจจุบัน รวมทั้งพูดคุยหารือเกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต และที่สำคัญในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2566 กระทรวง อว. ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ท่านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Space Beyond Borders: Thailand in the Global Value Chain การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอวกาศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ธุรกิจอวกาศไร้พรมแดนของโลกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กิจการอวกาศประเทศไทยกำลังพัฒนาให้เชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก หรือ Global Value Chain อีกด้วย”
นางสาวศุภมาส กล่าวอีกว่า กระทรวง อว. มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะให้งาน Thailand Space Week เป็นงานที่คนไทยและคนต่างชาติให้ความสำคัญและเฝ้ารอที่จะร่วมงานเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับงาน IAC หรืองาน World Space Week หรืองาน Global Space and Technology Convention ของประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น การที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องอาศัยกลยุทธ์ เทคนิค และสรรพกำลังมหาศาลที่จะหลอมรวมและเชื่อมโยงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งสามารถทำได้ทันที เพราะมีความสอดคล้องกับนโยบายของประเทศดังที่กล่าวมาแล้วในช่วงต้น เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนได้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยที่จะกำหนดให้อวกาศเป็น New growth engine ของประเทศได้
สำหรับฉากทัศน์แห่งอนาคตของเศรษฐกิจอวกาศในประเทศไทย นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ประเทศไทยนับว่าอยู่ในกระบวนการแห่งความพยายามในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของเศรษฐกิจอวกาศเต็มรูปแบบ ตามบริบทความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ตลอดจนการแข่งขันของตลาดโลกที่สูงขึ้น มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจตามนโยบายของแผนแม่บทกิจการอวกาศแห่งชาติ 20 ปี ซึ่งปัจจุบันร่าง พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ ฯ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยในเบื้องต้นเห็นชอบในหลักการของกฎหมายแล้ว เพื่อรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมอวกาศของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างมาตรฐานของกิจการอวกาศในประเทศไทย ตลอดจนดูเเลการประสานงานกับหน่วยงานอวกาศของต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการลงทุน สร้างรายได้ และการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น ความพยายามในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทย ไม่ใช่เพียงแค่การครอบครองความมั่งคั่งหรือการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศโลก แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำพาประเทศให้ดีขึ้น โดยอาศัยกลไกการขับเคลื่อนและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีจากภาครัฐ และไอเดียจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ร่วมมือกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมรองรับผลกระทบจากพลวัตที่เข้มข้นในอนาคตอันใกล้
ทางด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า เป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่กระทรวง อว. โดย GISTDA ได้นำเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเชิงสังคม อาทิ การติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังภัยพิบัติ น้ำท่วม ฝุ่นควัน ไฟป่า การจัดการทรัพยากรป่าไม้ หรือการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อทำการเกษตร แต่มาในระยะ 2-3 ปีมานี้ เราพบว่า อุตสาหกรรมอวกาศเป็นหนึ่งในสาขาแห่งอนาคตที่มีความสำคัญและเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Space 3.0 หรือ ‘New Space’ ซึ่งเป็นยุคที่วิทยาการทางอวกาศถูกนำมาประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมและบริการอย่างแพร่หลาย เกิดเป็นระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในหลายด้าน และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอวกาศมีความเกี่ยวโยงอยู่ในหลายภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจที่มีบทบาทในชีวิตประจำวัน เช่น การบริการส่งอาหาร Delivery ที่ทยอยเปิดตัวมากมายในปัจจุบัน นอกจากนี้ ข้อมูลภูมิสารสนเทศยังสามารถนำไปประยุกต์กับธุรกิจต่าง ๆ ได้หลากหลาย เช่น การประกันภัย อุตสาหกรรมพลังงาน การท่องเที่ยว เทคโนโลยีด้านข้อมูล การระบุตำแหน่งเพื่อบังคับทิศทางและการควบคุมทางไกล รถยนต์ไร้คนขับ และระบบเกษตรอัจฉริยะ
ดร.ปกรณ์ฯ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อสนับสนุนธุรกิจและบริการมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งการเกิดขึ้นของ Startup และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนต่อยอดการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศเพื่อตอบโจทย์ยุคสมัย และสร้างรูปแบบใหม่ ๆ ในการให้บริการทางธุรกิจ ทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันเชิงรุก เกิดการจ้างงานรูปแบบใหม่มากขึ้น ณ วันนี้ เทคโนโลยีอวกาศขยายการใช้ประโยชน์ไปสู่ภาคธุรกิจ เปิดโอกาสและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อต่อยอดใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย สามารถสร้างรายได้ ลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตอบสนองความต้องการของสังคม ตลอดจนสามารถสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จนเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจอวกาศ”
“สำหรับสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับจากเศรษฐกิจอวกาศ กิจการอวกาศกำลังเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงดาวเทียม แต่เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ต่อยอดจากการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยกำลังให้ความสนใจกับนวัตกรรมที่จะเข้ามาทดแทนหรือลดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิม ๆ เทคโนโลยีอวกาศจึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น เป็นยุคที่มนุษย์ได้รับประโยชน์มหาศาลจากดาวเทียมและจากสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจอวกาศ”
ปัจจุบัน การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศของแต่ละประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกเหนือไปจากมิติความมั่นคงของรัฐและสังคม ยังขยายไปถึงการแข่งขันด้านเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมอวกาศ โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA ได้ศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ในปี 2019 ระบุตัวเลขรายได้อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.6 ล้านคน สร้างมูลค่าทางสังคมกว่า 5.8 พันล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.9 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน GDP ของประเทศ และส่งผลให้เกิดนวัตกรรมต่อยอดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
สำหรับการจัดงาน“สัปดาห์อวกาศแห่งชาติ”ในงานวันนี้ (25 ตุลาคม 2566) ยังได้มีการเสวนาที่น่าสนใจในหัวข้อ “Space Situation Awareness and Space Traffic Management’s Role in National Security and Research Advancement” หรือการตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์อวกาศและบทบาทของการจัดการการจราจรอวกาศด้านความมั่นคงและความก้าวหน้าด้านการวิจัย โดย ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ จาก GISTDA กล่าวว่า ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีอวกาศเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลายด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจพาณิชย์ อุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้ส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศขึ้นสู่อวกาศเพื่อใช้ประโยชน์มีจำนวนสูงขึ้นอย่างทวีคูณในทุกๆปี นอกเหนือจากนี้ยังรวมถึงชิ้นส่วนขยะอวกาศที่ลอยเคว้งอย่างไร้ทิศทางอยู่ในวงโคจรมานานนับสิบปี วัตถุอวกาศเหล่านี้มีความเร็วในการโคจรที่สูงมากจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อดาวเทียมที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ดาวเทียมสามารถได้รับความเสียหายหรือสิ้นสุดภารกิจได้ในทันทีและซากดาวเทียมเหล่านี้จะกลายเป็นขยะอวกาศที่เพิ่มขึ้นในอวกาศ หากจำนวนขยะอวกาศสูงขึ้นถึงจุดๆหนึ่ง จะเกิดการชนเป็นลูกโซ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ดาวเทียมทุกดวงมีความเสี่ยงที่จะเสียหายหรือหยุดภารกิจทั้งหมดได้ เราจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอวกาศได้อีกต่อไป เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “Kessler syndrome” เป็นประเด็นความมั่นคงที่ทั่วโลกกำลังให้ความตระหนักเป็นอย่างยิ่ง สหประชาชาติ มีการระดมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงที่จะขึ้น ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยเองได้รับผลกระทบเช่นกัน ตัวอย่าง ขยะอวกาศที่มีความเสี่ยงที่จะชนดาวเทียม THEOS-1 และขยะอวกาศที่ตกกลับมาสู่โลกและมีความเสี่ยงที่จะตกลงพื้นแผ่นดินไทยเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ในการเสวนาดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก speaker 3 ท่านคือ Mr. Katsutoshi Kato, Director of NSPS, Cabinet Office,จากประเทศญี่ปุ่น , Michael Barnes, Director Government Sales, LEOLABS,จากสหรัฐอเมริกา และJacob Ask, Space Safety Program Manager, Swedish Space Corporation จากสวีเดน ซึ่งมาพูดถึงประเด็นสำคัญในเรื่องดังกล่าว เช่น ความตระหนัก และผลกระทบจากภัยของจำนวนวัตถุอวกาศที่สูงเพิ่มมากขึ้นอย่างทวีคูณทั้งในประเทศและระดับโลก ความสำคัญของเทคโนโลยี SSA&STM ที่มีผลต่อการป้องกันและบรรเทาภัยจากวัตถุอวกาศ ขีดความสามารถเทคโนโลยีของ SSA&STM ในปัจจุบันของประเทศไทยและระดับนานาชาติ ความท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อลดจำนวนขยะอวกาศในระดับนานาชาติ การพัฒนาเทคโนโลยีการจราจรไร้รอยต่อ ตั้งแต่การจราจรใช้โดรน การจราจรอากาศยาน และการจราจรอวกาศ การแนวทางการวางกฎระเบียบและนโยบาย เพื่อเป็นข้อบังคับให้ผู้ปฏิบัติการดาวเทียมควบคุมและลดจำนวนขยะอวกาศ เพื่อการใช้อวกาศอย่างยั่งยืน โดยใช้ แนวปฏิบัติ LTS ที่ออกโดยสหประชาชาติ และข้อเสนอแนวหรือแนวทางปฏิบัติที่ดีสุด (Best practice) สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อกำกับดูแลใช้อวกาศได้อย่างยั่งยืนด้วยซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความตระหนักภัยจากอวกาศ สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และ การวางนโยบายกิจการอวกาของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางให้กับประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถทั้งทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย รวมไปถึงแนวทางการกำหนด กฎระเบียบและนโยบายที่เหมาะสมกับประเทศไทยใน พรบ. กิจการอวกาศ เพื่อให้ประเทศไทยมีความปลอดภัยและความมั่นคงทางอวกาศ และแนวทางส่งเสริมสนับสนุนการเกิดเศรษฐกิจอวกาศใหม่ของประเทศไทย (New space economy) ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
งาน Thailand Space Week 2023 หรืองานสัปดาห์อวกาศแห่งชาติฯ จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 – 27 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ Plenary hall 1-2 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://tsw.gistda.or.th/register/ หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >> https://tsw.gistda.or.th โดยไม่มีค่าใช้จ่าย