เพราะ “ เทคโนโลยีไม่ได้มีไว้โชว์ แต่มีไว้ใช้และมีไว้แชร์ ”
และนี่ก็คือตัวอย่างของความร่วมมือในการในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งผู้ใช้งานและเจ้าขององค์ความรู้รวมถึงเทคโนโลยีได้ช่วยกันพัฒนาและค้นพบสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ร่วมกัน
กับ “ น้อง HAPPY ” หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน ซึ่งเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์สนับสนุนการบริการเวชศาสตร์นิวเคลียร์ “ครั้งแรกในไทย” ที่มาในรูปลักษณ์ของหุ่นยนต์แมวสีแดง ที่สื่อถึงความเป็นมิตร อ่อนโยนและให้โชคในเรื่องของสุขภาพ
ผลงานความร่วมมือของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน และที่สำคัญช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ ลดปริมาณรังสีที่จะได้รับโดยตรงในการรักษาผู้ป่วย
“รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นการใช้องค์ความรู้ขั้นสูงของทรูดิจิทัลกรุ๊ปมาตอบปัญหาที่โรงพยาบาลเจอเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย เราในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการการดูแลผู้ป่วยต้องการมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เรามีโจทย์ที่ยังหาคำตอบที่เหมาะสมไม่ได้ จึงอาศัยพันธมิตร คือ ทรู ดิจิทัล มาเป็นผู้จัดหาเทคโนโลยีและพัฒนาโซลูชั่นร่วมกัน
“ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างอันดีของการที่จะพยายามตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพของประชาชนด้วยนวัตกรรม ซึ่งเทคโนโลยีไม่ได้มีไว้เพื่อโชว์ แต่มีไว้เพื่อใช้จริง และแชร์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความร่วมมือนี้ไม่ใช่สิ่งแรก และสิ่งเดียว แต่จะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไป และจะนำไปสู่การต่อยอดในด้านอื่น ๆ ต่อไป”
“นายเอกราช ปัญจวีณิน” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้มแข็ง ตลอดจนเสริมสร้างสังคมไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สะท้อนวิสัยทัศน์ของทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้นำบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี (Telecom-Tech Company)
“การร่วมพัฒนานวัตกรรม “หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน” ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของทรูที่ได้ต่อยอด นำประสบการณ์จากการทำงานและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับทีมแพทย์ของไทยมาอย่างยาวนาน ผสานความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีและระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจรของทรู เข้ากับองค์ความรู้ของแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ระดับแนวหน้าของประเทศ เพื่อยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ได้สำเร็จอีกครั้ง ก่อเกิดนวัตกรรมในการให้บริการทางการแพทย์ในยุคดิจิทัลที่ก้าวล้ำมากกว่าที่เคยมีมา
และเป็นครั้งแรกของไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์สนับสนุนการให้บริการด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยหุ่นยนต์สามารถช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งการให้บริการผู้ป่วย ควบคู่กับการมีบทบาทสำคัญ คือ การเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ลดปริมาณรังสีที่จะได้รับโดยตรงจากการปฏิบัติงานประจำในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ จึงช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคจากการที่ได้รับรังสีสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานานๆ ช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้น ขณะที่ยังคงให้บริการได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ขณะที่ “นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” ประธานกรรมการบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ย้ำว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างพลังใจให้กับกลุ่มทรูเป็นอย่างมาก ซึ่งเทคโนโลยีนี้ไม่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ แต่ทำขึ้นมาโดยผสานความเป็นมนุษย์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน หรือ Human-Tech Technology ในแนวคิด Humanize ทำให้มีความมิตรกับผู้ใช้งาน Feedback ที่กลับมา คือ การเห็นคนไข้มีความสุข
สำหรับที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ “ รศ.พญ.คนึงนิจ กิ่งเพชร” หัวหน้าทีมพัฒนาหุ่นยนต์ สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกว่า การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน มีมากว่า 80 ปี ถือว่าเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สามารถหายขาดได้ แต่การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่นำสารรังสีไอโอดีน ที่เป็นเม็ดยาขนาดเล็กไปให้คนไข้ ในห้องที่มีระบบป้องกันการรั่วไหลของรังสีออกสู่ภายนอกนั้น ก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับรังสีที่แผ่ออกมาแม้ว่าสารรังสีไอโอดีนดังกล่าวจะถูกบรรจุในกล่องตะกั่วป้องกันก่อนที่จะถึงมือคนไข้ก็ตาม
ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ออกมาใช้งานทางการแพทย์อย่างหลากหลาย จึงเกิดแนวคิดที่จะนำหุ่นยนต์มาใช้งานกับบริการเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการให้บริการ
จากโจทย์ดังกล่าว นำไปสู่ความร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ที่ได้ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ และนำมาทดสอบใช้งานจริง มีการพัฒนาฟีเจอร์เพิ่มเติม และพบว่าจากการนำหุ่นยนต์อัจฉริยะฯ ไปให้บริการแทนบุคลากรทางการแพทย์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับรังสีลงถึง 20 เท่า
สำหรับปฏิบัติการของ “หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน” ซึ่งถูกออกแบบโดยผสานความเป็นมนุษย์เข้ากับเทคโนโลยีนั้น จะมีรูปลักษณ์ลวดลายสีสัน หน้าจอและเสียงที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน เพิ่มสัมผัสและปฏิสัมพันธ์แบบคล้ายมนุษย์ สร้างรอยยิ้มและความพึงพอใจให้คนไข้ โดยสามารถสั่งการและควบคุมผ่านแท็บเล็ต เชื่อมต่อบนเครือข่าย 5G รองรับการสื่อสารแบบเรียลไทม์ ที่ให้ทั้งความเร็วในการสื่อสาร ความเสถียร และความปลอดภัยสูงสุดของข้อมูล
หุ่นยนต์นี้มีฟังก์ชันที่โดดเด่น คือ สามารถส่งสารรังสีไอโอดีน ยา เวชภัณฑ์ และ อาหาร ให้แก่ผู้ป่วยในพื้นที่ให้บริการหรือห้องพักผู้ป่วย ให้บริการการแพทย์ระยะไกล ผ่านระบบวิดีโอคอล อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างแพทย์ พยาบาลและผู้ป่วย เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สามารถวัดสัญญาณชีพของผู้ป่วยในระหว่างที่เข้ารับการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน โดยสามารถเชื่อมโยงส่งข้อมูลภาพและผลตรวจแบบเรียลไทม์ พร้อมระบบจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์
นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบการเปรอะเปื้อนรังสีในพื้นที่ให้บริการหรือห้องพักผู้ป่วยภายหลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยแสดงผลของปริมาณรังสีในรูปแบบ Heat Map ด้วยสีที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ เพิ่มความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในการเข้าดูแลพื้นที่ให้บริการหรือห้องพักผู้ป่วย ที่อาจมีการเปรอะเปื้อนรังสีอยู่ในปริมาณมาก
ด้านอาจารย์ปัญญา ภาสว่าง ผู้ชำนาญการพิเศษ นักรังสีการแพทย์สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผู้ใช้งานโดยตรง บอกว่า หลักการทำงานของคนที่ทำงานกับรังสีคือ 1.ต้องอยู่ห่างจากรังสี และ2.ใช้เวลาที่สั้นที่สุด ซึ่งหากทำทั้งข้อ1หรือ 2 ไม่ได้ จะต้องมีอุปกรณ์ในการป้องกัน ดังนั้นคนที่ทำงานกับรังสีจะมีความกังวลว่าจะเกิดการสะสมและเป็นอันตรายในอนาคตหรือไม่ ซึ่งเมื่อมีหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทน ความกังวลเหล่านั้นจึงหมดไป
ปัจจุบันในความร่วมมือดังกล่าว ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ สำหรับปฏิบัติในโรงพยาบาลจุฬา ฯ 1 ตัวและใช้ในการสำรองข้อมูล อีก 1 ตัว ซึ่ง ทรูดิจิทัล กรุ๊ป บอกว่า การขยายจำนวนเพิ่มเติมไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากองค์ความรู้ต่าง ๆ หรือมันสมองของหุ่นยนต์ถูกพัฒนาไว้บนระบบคลาวด์
วันนี้…จึงแสดงให้เห็นแล้ว “หุ่นยนต์” ไม่ได้มีความสามารถแค่ส่งของ แต่ยังสามารถพัฒนาฟังก์ชันที่หลากหลายตามความต้องการใช้งานอีกด้วย.