ผลการศึกษาชี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศต้องมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและมีการกำกับดูแล

News Update

ไทยพร้อมลุยตลาดอุตสาหกรรมอวกาศด้านดาวเทียม หลังผลการศึกษาทางเทคนิคชี้ความสำคัญอยู่ที่นโยบายส่งเสริมการลงทุนและการกำกับดูแลที่มุ่งเน้นการใช้งานตามภารกิจเฉพาะด้าน

               เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในงานสัปดาห์อวกาศแห่งชาติ ประจำปี 2566 หรือ Thailand Space Week 2023 ที่จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์   สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดสัมมนา“Technical Programme: Thailand NGSO Policy Guideline: The Impact from Present to the Future” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการศึกษาแนวนโยบายการให้บริการและการกํากับกิจการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจําที่ (NGSO) เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศด้านดาวเทียมของประเทศไทย

               โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แนวทางการอนุญาต กำกับดูแล และแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันที่เหมาะสมในให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ของประเทศไทย รวมทั้งแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดาวเทียม และนโยบายการส่งเสริมการเกิดระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศด้านดาวเทียมของประเทศไทย  

               ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า  ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กลยุทธ์ การอนุญาต กำกับดูแลในการให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ของประเทศไทย ที่ดำเนินการศึกษามา สามารถสรุปได้ 2 แนวทาง แนวทางแรกคือนโยบายส่งเสริมการลงทุน (Investment Promotion Policy) จะต้องคำนึงถึง 4 เสาหลัก ได้แก่ นโยบายด้านอวกาศที่มีความชัดเจน เงินทุนจากภาครัฐ การจัดเก็บอัตราภาษี และกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ จะต้องทำให้เกิดการเข้าถึงตลาด (Access to Market) การเปิดตลาดหรือมีตลาดใหม่ ๆ  ทั้งนี้ หากจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจภายในประเทศ จะต้องก่อเกิดการจัดซื้อ-จัดจ้างภาครัฐ (Public Procurement) เนื่องจากตลาดภาครัฐเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องดาวเทียมวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) จะต้องมุ่งเน้นถึงเรื่องนโยบายการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย

               และแนวทางที่ 2 นโยบายการกำกับดูแล (Administrative Policy) โดยมุ่งเน้นไปที่ “Public sector Competitiveness” แนวทางนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นประสิทธิภาพตลาด (Efficient Market) แต่ต้องการมุ่งเน้นวัตถุประสงค์หรือภารกิจเฉพาะด้าน เช่น เพื่อให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อภารกิจการศึกษา การป้องกันสาธารณภัย เหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ และภารกิจด้านความมั่นคง เป็นต้น

               อย่างไรก็ตาม กสทช. อาจต้องพิจารณาให้ภาคเอกชนมีข้อเสนอเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมสื่อสาร การพัฒนาบุคลากรในสาขาที่สำคัญ โดยอาจร่วมมือกับสถานศึกษาของไทยในการสร้างหรือปรับทักษะ (Upskill) บุคลากรตามที่ต้องการ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ อาทิ GISTDA มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดาวเทียมในหลายระบบย่อย เป็นต้น ดังนั้น ข้อเสนอดังกล่าวนี้ จะทำให้ประเทศมีขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

               นอกจากนี้ในงานสัมมนาฯ ดังกล่าวยังมีการเสวนาในหัวข้อสำคัญ อาทิ  “Beyond 5G: Unlocking Telecommunication Potential through Space Technology” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้แทนสำนักงาน กสทช. / Ministry of Internal Affairs and Communications: MIC (Japan) / Softbank Corp. (Japan) / Sony Group Corporation (Japan) เข้าร่วมเสวนา   และมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษเพื่อสรุปผลการศึกษาด้านต่าง ๆ ของโครงการ อาทิ ด้านการประเมินมูลค่าเศรษฐกิจ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของการให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ในประเทศไทย ด้านกฎหมายและนโยบายการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศของต่างประเทศ และการประยุกต์ใช้กับประเทศไทย และด้านแนวโน้มสภาพอุตสาหกรรมอวกาศและดาวเทียม และการกำกับดูแลการให้บริการ