ที่ผ่านมา ‘Plant-based Meat’ หรือ ‘โปรตีนทดแทนจากพืช’ เป็นกระแสที่กำลังเติบโตอย่างมากในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ Plant-based Milk เช่น นมอัลมอนด์ ,Plant-based Protein หรือ Plant-based Meat คือโปรตีนจากพืช และ Plant-based Meal คือ อาหารพร้อมทานหรือพร้อมปรุงสังเคราะห์ ที่มีโอกาสเติบโตสูง
โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด – 19 เนื่องด้วยผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและการสรรหากระบวนการผลิตอาหารที่มีความยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพสัญชาติไทย “More Meat” จึงเดินเกมขยายสู่การเติบโตผ่านการผนีกกับ VC
และรายแรกคงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกซะจาก “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” เจ้าของอาณาจักร วีฟู้ดส์ หรือ วีฟาร์ม ผู้ที่คว่ำหวอดในตลาดอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยมีก้าวแรกเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เริ่มต้นด้วยสินค้า “น้ำนมข้าวโพด” และ “ข้าวโพดหวานพร้อมรับประทาน” ที่ต้องการจะปรับทัพสู่บริษัทแพลนท์เบสฟู้ด ล่าสุดจึงได้จับมือกับมอร์มีท พัฒนาสินค้าอาหารพร้อมรับประทานที่ทำมาจากโปรตีนจากพืช
นายวรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ Co-Founder มอร์มีท (More Meat) บริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด กล่าวว่า มอร์มีทในฐานะฟู้ดเทคสตาร์ทอัพมองว่าการที่สเกลอัพได้นั้น ต้องโตให้เร็วและใหญ่ขึ้น นั่นคือการเปิดรับ VC มาช่วยซัพพอร์ตทั้งในแง่ธุรกิจ และมุมมองการประกอบธุรกิจ ซึ่งวีฟู้ดส์เป็นเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์ และมุมมองธุรกิจที่ใกล้เคียง คือ การส่งเสริมเกษตรกร และเครือข่ายชุมชนเกษตรกร อีกทั้งวีฟู้ดส์เองในฐานะนักลงทุนได้มองเห็นแนวโน้มสินค้าโปรตีนจากพืช เป็นที่นิยมทั้งในต่างประเทศและไทยจึงได้เกิดการร่วมลงทุน
ซึ่งทางวีฟู้ดส์จะมาช่วยไขจุดสำคัญต่างๆเพื่อให้เกิดการสเกลอัพได้ อาทิ การบุกตลาดโมเดิร์นเทรด และด้วยตำแหน่งของมอร์มีทต้องการที่จะทำมอร์มีทให้เป็นโปรตีนจากพืช ที่มีโภชนาการอย่างครบถ้วนและหลากหลาย ส่วนวีฟาร์ม หรือ วีฟู้ดส์เน้นในเรื่องของการทานง่าย เมื่อมาจับมือกันจึงได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันจนออกมาเป็น “ลาบทอดจากพืช” ในรูปแบบ Ready to eat ซึ่งเป็นการนำเอาโปรตีนจากพืชไปปรุงรสลาบ และพร้อมวางจำหน่ายภายใต้แบรนด์วีฟาร์ม เพิ่มเติมจาก Ready to Cook อย่างที่ทำตลาดมาระยะหนึ่ง
“การร่วมลงทุนในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกของมอร์มีท ที่ได้ร่วมทำงานกับบริษัทด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอาหารที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย เนื่องด้วยวิสัยทัศน์และการทำงานขององค์กรมีความใกล้เคียงกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับเทรนด์การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตมากถึง 36% ต่อปี ตลอดจนการเห็นโอกาสการขยายตัวของกลุ่มอาหารประเภทนี้ที่จะไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย รวมถึงในระดับต่างประเทศ”
ทั้งนี้หากมองการเติบโต วรกันต์ บอกว่า สถานการณ์ตลาดอาหารแพลนต์เบสทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และตลาด Plant-based นั้นกว้างกว่าที่คิด แถมปัจจุบันมีมูลค่าถึง 2.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 2-3 ปีนี้มีสตาร์ทอัพและผู้ที่สนใจเข้าสู่ไลน์ธุรกิจนี้มากขึ้น ส่งผลให้มีแบรนด์แพลนต์เบสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มองว่าตลาดแพลนท์เบสมีทจะโต 30-40% มูลค่าสูง 20-30 ล้านบาท ซึ่งมอร์มีทเองตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 20 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย จากการร่วมลงทุนกับบริษัทขนาดใหญ่ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ท้องตลาด
“ในปี 2564 มอร์มีทตั้งเป้ายอดขายทางออนไลน์กับวีฟู้ดส์ไว้ที่ 20 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายจากตลาดรีเทล/ผู้บริโภคทั่วไป 80% และจากร้านอาหารต่างๆ (B2B) 20% ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนเดียวกับยอดขายปี 2563 อีกทั้งมอร์มีทมีแผนที่จะทำ Contact Farming กับเกษตรกรที่ปลูก “เห็ดแครง” หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญ ส่วนทางด้านซัพพลายเชน ปัจจุบันโรงงานผลิตแพลนท์เบสของมอร์มีท สามารถผลิตได้ 200 กิโลกรัมต่อวัน หรือ 3-4 ตัน/เดือน ซึ่งยังสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้อีก 2 เท่า ดังนั้น หากดีมานด์เพิ่มขึ้น หรือ เกิดการระบาดรอบใหม่มีความรุนแรงก็ไม่กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อซัพพลาย”
พร้อมทั้งแผนธุรกิจในปีหน้ามอร์มีทได้มีการวางทิศทางธุรกิจในฐานะฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ ไว้คือ ช่วงไตรมาส 2 มีแผนจะเพิ่มสินค้าใหม่ และในแง่ของการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาประยุกต์ใช้ อีกทั้งอนาคตมองการวิจัยพืชอื่น ๆ นอกเหนือไปจากเห็ดแครง ซึ่งอาจจะต่อยอดสู่สูตรที่ตอบโจทย์กลุ่มที่รักษาสุขภาพ อย่างเช่น ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย ที่ต้องการจะเพิ่มโปรตีน รวมถึงการโฟกัสตลาดในประเทศ และเร่งเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการส่งออกไปต่างประเทศในช่วงไตรมาส 3 ของปี 64 ที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศ อย่าง สิงคโปร์, มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยส่งผ่านดิสทริบิวเตอร์
“มองว่า 3-5 ปีนับจากนี้ จะเห็นนวัตกรรมแพลนท์เบสที่แอดวานซ์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะการทำอาหารก็ดี หรือการเพิ่มโภชนาการก็ดี เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครอบคลุมมากขึ้นและทำให้แพลนท์เบสดีกว่าเนื้อสัตว์ได้”
เมื่อถามถึงแพลนท์เบสที่ว่าจะเป็นแค่กระแสระยะสั้น หรือไม่นั้น วรกันต์ เสริมว่า แพลนท์เบสไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นโซลูชั่นที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพราะทั้งภาวะโลกร้อน การระบาดของโรคใหม่ ๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมเดิม ๆ บริโภคแบบเดิม ดังนั้น Plant-based จึงตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม ลดการแพร่ระบาดของไวรัสที่มาจากสัตว์ ตอบโจทย์ทางด้านฟู้ดเซฟตี้ดังนั้นจึงไม่ใช่เทรนด์”
สำหรับวี ฟู้ดส์ ในปี 2564 คาดว่า จะสามารถเติบโตในตลาดอาหารแพลนต์เบสได้กว่า 25-30 % ด้วยการพัฒนาการวิจัย นำนวัตกรรม รวมทั้งหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมทั้งเน้นการผลิตอาหารที่มีฟังก์ชัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของไทย โดยการร่วมลงทุนกับมอร์มีทในครั้งนี้ถือว่าเป็นหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้อนาคตในมุมมองของฟู้ดเทคมอร์มีทจะเปิดรับมีนักลงทุนรายอื่นเข้ามา เพื่อช่วยในการสเกลอัพ เรื่องของเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายผลิตภัณฑ์สู่ผลิตภัณฑ์ SKUs อื่น อีกทั้งการบุกตลาดต่างประเทศ
แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ช่องทางในการเลือกซื้อ ไม่ว่าจะเป็น Foodland, Villa Market, Gourmet Market, Tops Market, Rimping , Makro และ V Farm Delivery รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่กำลังจะเปิดเพิ่มอีกช่องทางเป็นอีคอมเมิร์ซ ผ่านเว็ปไซต์ www.morefoods.in
ทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้ว่า “เมื่อเวลาไม่คอยท่า ผู้ที่กล้าเท่านั้นจึงจะคว้าโอกาสได้” วลีนี้จะบ่งบอกถึงใครไปไม่ได้นอกซะจาก “วีฟู้ดส์” ที่กล้าทรานฟอร์มสู่ “Plant-based Food Company” และ “มอร์มีท” ผู้ที่กล้าเปิดรับผู้ร่วมเส้นทางเพื่อจับมือก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดแพลนท์เบสมีทในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ