อว.จับมือจีนและนานาประเทศใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาความยากจน พร้อมหารือรับความท้าทายใหม่ด้านการพัฒนาสีเขียว ความเป็นกลางทางคาร์บอน พลังงานสะอาด เอไอ ควอนตัม เทคโนโลยีอวกาศ
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.66 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมประชุม Belt and Road Conference on Science and Technology Exchange ครั้งที่ 1 ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ มีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยของกระทรวงหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่างๆ จำนวน 24 ประเทศจาก 70 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม
น.ส.ศุภมาส เปิดเผยว่า ได้เข้าประชุมเรื่อง Building Closer Belt and Road Partnerships on Science, Technology and Innovation โดยตนหยิบยกประเด็น “การเชื่อมโยงประชาชนของทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดมากขึ้น โดยการกระชับการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” รวมถึงในเรื่องของการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย และความร่วมมือที่จีนได้เห็นชอบให้นำอุปกรณ์ตรวจวัดสภาวะอวกาศ (Space Weather Sensor) ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) กระทรวง อว.พัฒนาขึ้นซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศไทยขึ้นไปกับยานสำรวจอวกาศฉางเอ๋อ-7 ที่มีกำหนดการเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 2569 ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศที่สำคัญ รวมทั้งร่วมมือรับความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาสีเขียว ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) พลังงานสะอาด ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีควอนตัม เทคโนโลยีอวกาศ
รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนได้เข้าร่วมประชุม A Path toward Future-Oriented Innovation-Driven Development และกล่าวในหัวข้อ “การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขจัดความยากจน” โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้ยกตัวอย่างที่กระทรวง อว.นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปแก้ปัญหาความยากจนผ่านโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ “U2T” โดยให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว.เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนในการพัฒนาอาชีพ
“ กระทรวง อว.ได้สนับสนุนให้มีการริเริ่มสร้าง platform หรือโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการถอดบทเรียนความสำเร็จของประเทศจีนและยินดีร่วมมือกับประเทศจีนและนานาประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” น.ส.ศุภมาส กล่าว